พลังงาน

พายุเฮอริเคนเข้าสหรัฐฯ ทำให้กำลังผลิตน้ำมันลดลง 58% ดันราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น

สนพ. ชี้พายุเฮอริเคนเข้าสหรัฐฯ ทำให้กำลังผลิตน้ำมันลงกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 58 เปอร์เซ็นต์ ดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น และได้แรงหนุนจาก FDA ไฟเขียวให้ใช้พลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกันรักษาไวรัสโควิด เป็นปัจจัยหนุเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ช่วงวันที่ 17-23 สิงหาคม 2563 ว่า แนวโน้มยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ที่พายุเฮอร์ริเคนมาร์โค และพายุโซนร้อนลอราพัดผ่านอ่าวเม็กซิโก โดยสำนักบังคับใช้ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม (Bureau of Safety and Environmental Enforcement – BSEE) ของสหรัฐฯ ระบุว่าเฮอร์ริเคนมาร์โคและพายุโซนร้อนลอราที่เคลื่อนตัวผ่านอ่าวเม็กซิโกได้ส่งผลให้บรรดาบริษัทน้ำมันต้องอพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน 114 แท่นจากทั้งหมด 643 แท่นในบริเวณดังกล่าว และปรับลดกำลังผลิตน้ำมันรวม 57.6% หรือประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งลดกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติ 44.6% หรือ 1,205 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากข่าวสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) อนุมัติให้ใช้พลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน (convalescent plasma) ในการรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าความคืบหน้าในการรักษาโรคไวรัสโควิด-19 จะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ดี ตลาดยังติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Jackson Hole Economic Policy) ที่ Jackson Hole รัฐ Wyoming สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 27-28 สิงหาคม 2563 เพื่อจับตามองทิศทางนโยบายทางการเงินที่เกี่ยวข้องของ FED ซึ่งเป็นปัจจัยต่อราคาน้ำมันในช่วงนี้

ในส่วนของ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ช่วงวันที่ 24-30 สิงหาคม 2563 มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยราคาน้ำมันไบโอดีเซลอ้างอิงเฉลี่ย อยู่ที่ 24.06 บาทต่อลิตร ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.51 บาทต่อลิตร และราคาเอทานอลอ้างอิง ในเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 23.16 บาทต่อลิตร ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นราคาซื้อขายแบบระยะยาวของผู้ค้า นายวัฒพงษ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกช่วงระหว่างวันที่ 10-16 สิงหาคม 2563 ราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ 43.95 และ 42.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.12 และ 0.60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  โดยยังต้องจับตาการประชุม JMMC ของกลุ่มโอเปกพลัส ในวันที่ 19 ส.ค. 63 เพื่อติดตามการปฏิบัติตามข้อตกลงในการลดกำลังการผลิต แต่คาดว่าอาจไม่ปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มจากข้อตกลงเดิม ส่วนโรงกลั่นในจีนมีแผนที่จะนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ในเดือน สิงหาคม-กันยายน 2563 เพิ่มอีกราว 20 ล้านบาร์เรล เป็นการส่งสัญญาณว่าความต้องการใช้น้ำมันในจีนเริ่มฟื้นตัวแล้ว นอกจากนี้ สถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐอเมริกา (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ (วันที่ 14 ส.ค. 63) ปรับลดลงกว่า 4.3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 512 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.7 ล้านบาร์เรล

ขณะที่ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซียราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ 48.84,47.65 และ 48.59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.55,0.68 และ 0.60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นและน้ำมันเบนซินคงคลังในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ปรับลดลง 6% (ณ 19 ส.ค. 63) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์โดย International Enterprise Singapore (IES) (ณ 19 ส.ค. 63) ลดลง 1.01 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.83 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ส่วน Insights Global รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรป ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) (20 ส.ค. 63) ลดลง 0.58 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.88 ล้านบาร์เรล

ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ 49.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.31 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยตลาดยังคงกังวลการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันดีเซล เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศเอเซียเริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น อุปสงค์ในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับต่ำจากมาตรการปิดเมือง ด้าน Insights Global รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในยุโรป ที่ ARA (ณ 20 ส.ค. 63) เพิ่มขึ้น 0.55 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 19.09 ล้านบาร์เรล

สำหรับค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 2.38 บาท/ลิตร (รวมค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา – กรุงเทพฯ 0.15 บาท/ลิตร) และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.43 บาท/ลิตร จากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.16 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่เฉลี่ย 31.4276 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.16 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลลดลง 0.01 บาท/ลิตร)

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button