ปักธงโรงงานกำจัดซากขยะแผงโซลาร์เซลล์
กรมโรงงานอุตสาหกรรมเล็งพื้นที่ภาคกลางและอีสาน ปักธงสร้างโรงงานกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ล้นประเทศ พร้อมให้สิทธิพิเศษการลงทุนดึงดูดเอกชนเข้ามาลงทุน เผยตั้งแท่นรับมืออีก 5 ปีจะมีจำนวนซากแผงโซลาร์หมดอายุใช้งานมากกว่า 5 แสนตัน แถมยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ห่วงแผงโซลาร์เซลล์ตามบ้านเรือนและสนามหญ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีอายุการใช้งานแค่ 5 ปี จากปกติ 20 ปี
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมโรงงานฯ เตรียมออกขอบเขตและเงื่อนไขการลงทุน หรือ ทีโออาร์ เพื่อว่าจ้างบริษัทศึกษาความเหมาะสมในการสร้างโรงงานกำจัดซากโซลาร์เซลล์ วงเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน คาดว่าใช้เวลาในการศึกษา 1 ปีจะแล้วเสร็จ เพื่อให้ทันกับปริมาณซากแผงโซลาร์เซลล์ที่คาดว่าในปี 2563 จะมีปริมาณสะสมที่จะต้องกำจัดประมาณ 550,000 ตัน หรือประมาณ 18 ล้านแผง
“โดยปกติอายุการใช้งานของแผงโซลาเซลล์เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 ปี แต่แผงโซลาเซลล์ที่มีคุณภาพไม่ดี ที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. อาจจะมีอายุประมาณ 5-10 ปี ซึ่งจะทำให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานได้มีการหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการซากแผงโซลาเซลล์ที่จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่รวมทั้งกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าโซลาเซลล์ ทั้งโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟ สะสมรวมทั้งหมด 6,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 โดยในปี 2560 มีการติดตั้งระบบโซลาร์ทั้งหมด ประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ และยังเหลือเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนปี 2579 อีกประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือแผน PDP 2018 ยังมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อีกกว่า 12,000 เมกะวัตต์ด้วย
“ตอนนี้มีโรงไฟฟ้าโซลาเซลล์ ประมาณ 450 โรงงาน และมีการนำโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนหลังคาบ้านเรือนและอาคารต่างๆ เพื่อผลิตไฟฟ้าทั้งใช้เองและขายให้กับการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการนำไปใช้กับสินค้าหลายหลายประเภท เช่น โคมไฟโซลาร์เซลล์ น้ำพุโซลาร์เซลล์ หรือโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งกับเครื่องสูบน้ำ ที่น่าห่วงที่สุดคือแผงโซลาร์ติดตั้งตามบ้านเรือน และติดตั้งสนามหญ้า ถ้าแผงโซลาร์เหล่านี้ไม่ได้มาตรฐาน มอก. จะทำให้หมดอายุการใช้งานเร็วมาก ซึ่งจะทำให้มีซากขยะแผงโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นจำนวนมาก”
นายทองชัย กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการลงทุนสร้างโรงงานกำจัดซากโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ มีแต่เพียงการลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์เพียง 1 โรงเท่านั้น ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เป็นการนำแผงเก่าที่หมดอายุการใช้งานมาเปลี่ยนแผ่นเซลล์เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนแผ่นเซลล์ที่หมดอายุก็ใช้วิธีส่งคืนผู้ผลิตต่างประเทศ หรือนำมาบดย่อยซากโซลาเซลล์และฝังกลบในหลุมฝังกลบอุตสาหกรรม (Secure Landfill)
สำหรับโรงงานกำจัดซากโซลาร์เซลล์ที่กำลังจะก่อสร้างแห่งใหม่นี้ เอกชนที่ได้รับเลือกเข้ามาลงทุนจะได้สิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนด้วย แต่จะต้องดำเนินการตามนโยบาย Green Industry และได้รับรองมาตรฐาน ISO 14000 ด้วย โดยพื้นที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างโรงงานกำจัดซากโซลาร์เซลล์จะอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคอีสาน เพราะเป็นแหล่งที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นจำนวนมาก