ปิโตรเลียม-พลังงาน-ชาวเหมือง ได้เฮ คปก.ผ่อนคลายค่าเช่าที่ดินเขตปฏิรูป
คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินฯเห็นผลกระทบจากโควิด-19 ยอมปรับปรุงค่าใช้ที่ดินเพื่อธุรกิจพลังงาน ปิโตรเลียมและเหมืองแร่ หลังประกาศใช้อัตรามหาโหดแบบเหมาจ่ายครั้งเดียวในยุคคสช. สมาคมสินแร่ฯขอบคุณทุกฝ่ายพร้อมเดินหน้าผลักดันวาระต่อเนื่อง
ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คปก.) ได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้และค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 สมัยที่นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคปก. ซึ่งอยู่ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น นับเป็นการสร้างภาระแก่ผู้ประกอบการอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนล่วงหน้าครั้งเดียวตามอายุสัญญา มีผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกต้นทุนก้อนใหญ่บางรายต้องชำระสูงหลายสิบล้านบาท
นายกสมาคมสินแร่ฯ กล่าวว่า จากการร้องเรียนของสมาชิกประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจนับแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและมีแนวโน้มยาวนาน สมาคมฯจึงได้เสนอเรื่องต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้พิจารณาผ่อนคลายระเบียบดังกล่าวตามนโยบายที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม ซึ่งในที่สุด ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคปก.ได้พิจารณาออกประกาศปรับปรุงระเบียบดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขปรับปรุงคือ การใช้ที่ดินเพื่อกิจการปิโตรเลียมให้เรียกเก็บค่าตอบแทนจากการสำรวจหรือขุดเจาะเพื่อสำรวจปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 3 ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี ส่วนการผลิตให้เรียกเก็บ 2 ส่วน คือค่าตอบแทนการใช้ประโยน์ที่ดิน 3% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี และค่าตอบแทนการเสื่อมสภาพจากการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นรายปีให้เก็บ 5% ของมูลค่าปิโตรเลียมก่อนหักค่าใช้จ่าย
ด้านเหมืองแร่ ให้เรียกเก็บจากการสำรวจแร่ 3% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี การทำเหมืองหรือการทำเหมืองใต้ดินให้เรียกเก็บ 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2% ของมูลค่าทรัพย์สินคูณด้วยจำนวนปีที่ใช้ประโยชน์ ส่วนที่ 2 ค่าตอบแทนการเสื่อมสภาพจากการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นรายปีให้เรียกเก็บโดยเทียบเคียงจากอัตราค่าภาคหลวงซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ประกาศใช้ และการดำเนินการอันเกี่ยวเนื่องกับการสำรวจแร่ การทำเหมือง หรือการทำเหมืองใต้ดินให้เรียกเก็บเท่ากับอัตรา 3% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี
ผู้ประกอบการที่ใช้ที่ดินในลักษณะรอนสิทธิ์ ที่มีผลให้เกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นเพื่อประกอบเกษตรกรรมได้ ให้เรียกเก็บเท่ากับอัตราค่าตอบแทนการใช้ที่ดินที่ปรากฏตามบัญชีที่แนบท้าย โดยเริ่มต้นปี 2560-2563 กำหนดอัตราค่าตอบแทน 40,000 บาท/ไร่/ปี จากนั้นจะปรับเพิ่มทุก 3 ปีละ 4,000 บาท/ไร่/ปี จนถึงปี 2589 อัตรา 84,000 บาท/ไร่/ปี และตั้งแต่ปี 2590 ให้ปรับเพิ่มอีก 9% ของอัตราค่าตอบแทนสุดท้ายทุกรอบ 3 ปี
“สมาคมฯต้องขอบคุณกระทรวงเกษตรฯ นับแต่ท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการฯ ท่านร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยฯ และดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการส.ป.ก. ที่เข้าใจและเห็นใจความยากลำบากของผู้ประกอบการในยุคนี้จึงได้ผ่อนคลายระเบียบการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้ดังกล่าว นอกจากนี้ทางสมาคมฯยังต้องฝากให้ทุกท่านที่กล่าวถึงได้พิจารณาในข้อเสนอเรื่องการคลายล็อคการอนุญาตใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปเพื่อการทำเหมืองซึ่งติดค้างมาตั้งแต่ปี 2560 ด้วย ” ดร.วิจักษ์กล่าวในตอนท้าย