สังคมสูงวัย

ถึงคิวออกแบบโครงสร้างพื้นฐานขนส่งสาธารณะเพื่อคนสูงวัย เด็ก และคนพิการ พื้นที่ภาคอีสาน 10 จังหวัด

เปิดสัมมนา “โครงการศึกษา สำรวจ เพื่อการประเมินและให้ข้อเสนอแนะ ในการปรับปรุงและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการเดินทางทางถนน เพื่อเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะสำหรับคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ ของกระทรวงคมนาคม ระยะที่ 4 เผยถึงคิวการศึกษาและสำรวจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ศึกษาทั้งหมด 10 จังหวัด

วันนี้ (19 ต.ค.63) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ “โครงการศึกษา สำรวจ เพื่อการประเมินและให้ข้อเสนอแนะ ในการปรับปรุงและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการเดินทางทางถนน เพื่อเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะสำหรับคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ ของกระทรวงคมนาคม ระยะที่ 4” โดยมีผู้แทนส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนองค์กรคนพิการ และผู้สูงอายุ ร่วมสัมมนา ณ โรงแรมเดอะรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ

กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศ ได้ตระหนักถึงภารกิจในการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมและขนส่ง รวมถึงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคม ได้ดำเนินโครงการฯ เพื่อสำรวจลักษณะของโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะ วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้เกิดการเดินทางได้อย่างไม่มีอุปสรรคของคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนพิการ และผู้สูงอายุ ตลอดจนให้การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เป็นไปตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวมาแล้ว 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคตะวันออก จำนวน 9 จังหวัด ระยะที่ 2 ศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ จำนวน 9 จังหวัด และระยะที่ 3 ศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง จำนวน 15 จังหวัด

จากผลการศึกษาฯ ดังกล่าว พบว่าปัจจุบันการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะยังไม่เอื้อต่อการเดินทางของคนพิการและผู้สูงอายุ ดังนั้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในเรื่องการเดินทางของคนพิการและผู้สูงอายุให้เกิดความเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป จึงจัดโครงการฯ ระยะที่ 4 ขึ้น โดยเน้นการศึกษาและสำรวจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ศึกษาทั้งหมด 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ อุดรธานี ศรีสะเกษ นครพนม สกลนคร หนองคาย และมุกดาหาร ซึ่งการดำเนินการการมีส่วนร่วมที่ผ่านมา กระทรวงฯ และที่ปรึกษาฯ ได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการสำรวจตรวจประเมินจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พบว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับผลการสำรวจ ผลการออกแบบปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งสาธารณะ และผลการออกแบบพื้นที่ต้นแบบการปรับปรุงการเดินทางทางเดินเท้า ทางข้าม ในเขตเทศบาลพื้นที่ศึกษา 10 จังหวัด นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการเป็นอย่างมาก

สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงการ ศึกษาสำรวจ การปรับปรุง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีจำนวน 26 สถานี และผลการออกแบบรายละเอียดจำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย สถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และสถานีขนส่งผู้โดยสารเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดอุบลราชธานี และการออกแบบปรับปรุงพื้นที่ต้นแบบการเดินทาง ทางเดินเท้า ทางข้าม รวมถึงผลการศึกษาในด้านอื่น ๆ ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา ประชาชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์กับประชาชน คนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ ได้อย่างสะดวก และปลอดภัยต่อไป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button