กทปส. ผนึก สมาคมล่ามภาษามือฯ ปั้นล่ามในกิจการโทรทัศน์ หนุนคนพิการทางหูเข้าถึงสื่อ
กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จับมือ สมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เตรียมเปิดหลักสูตร “ทักษะสำคัญของล่ามภาษามือ” ภายใต้โครงการ “พัฒนาระดับความรู้ ความสามารถล่ามภาษามือสำหรับกิจการโทรทัศน์” หนุนเติมเต็มศักยภาพล่ามภาษามือในกิจการโทรทัศน์ ถ่ายทอดข้อความสู่เสียงให้คนพิการทางการได้ยิน เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่ ความรู้พื้นฐานของล่าม และความสามารถในการสื่อความหมาย พร้อมตั้งเป้าปั้นล่ามภาษามือป้อนกิจการโทรทัศน์รวม 50 คน ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายในปัจจุบันกว่า 3.88 แสนคน หรือคิดเป็น 18.86 ของคนพิการทั้งหมด
นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการ กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาพของความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึง การรับรู้ และการใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสาร ยังสามารถพบเห็นได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน และสื่อความหมาย ที่มีจำนวนกว่า 3.88 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18.86 ของคนพิการทั้งหมด (ที่มา: รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2563) นอกจากนี้ ยังพบข้อจำกัดด้านความเข้าใจของ “ล่ามภาษามือ” ในปัจจุบัน ที่ไม่สามารถสื่อสารหรือถ่ายทอดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ กทปส. จึงดำเนินการจัดสรรงบประมาณ 3.3 ล้านบาท อุดหนุนการพัฒนาหลักสูตร “ทักษะสำคัญของล่ามภาษามือ” ภายใต้โครงการ “พัฒนาระดับความรู้ ความสามารถล่ามภาษามือสำหรับกิจการโทรทัศน์” ของสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เพื่อทลายข้อจำกัด และสร้างโอกาสการเข้าถึง/รับรู้ และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ ผ่านบริการล่ามภาษามือ สื่อกลางเชื่อมโลกแห่งข่าวสาร ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป พร้อมตั้งเป้า ปี 2564 คนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมายต้องถึงสื่อเพิ่มขึ้น
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสภณ ชัยวัฒนกุลวานิช นายกสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย หัวหน้าโครงการวิจัย “ล่ามภาษามือ” กล่าวเพิ่มเติมว่า “ล่ามในกิจการโทรทัศน์” ผู้ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่กว้างขวาง มากไปกว่าการเป็นล่ามภาษามือทั่วไป โดยหากล่ามภาษามือในกิจการโทรทัศน์มีความเข้าใจ และมีความคุ้นชินกับคำ จะสามารถแปลง “ข้อความ” สู่ “เสียง” ในรูปแบบภาษามือ ให้คนพิการด้านการได้ยิน สามารถเข้าใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หลักสูตร “ทักษะสำคัญของล่ามภาษามือ” จึงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและเติมเต็มศักยภาพของล่ามภาษามือ ใน 2 ด้านสำคัญดังนี้
- ความรู้พื้นฐานของล่าม “ล่ามภาษามือ” จะต้องมีความรู้ความสามารถในเรื่องหลักจรรยาบรรณสื่อ สิทธิและหลักกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ มีความรู้ความเข้าใจด้านวัฒนธรรม และมีเจตคติที่ดีต่อคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย รวมถึงหลักปฏิบัติและจรรยาบรรณของล่ามภาษามือ
- ความสามารถในการสื่อความหมาย ล่ามภาษามือที่ดี จะต้องมีทักษะในการฟัง การจับประเด็น พร้อมถ่ายทอด “ข้อความ” เป็น “เสียง” ได้อย่างถูกต้อง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังต้องมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ ในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่จำเป็น ที่มีการปรับใช้ในบริบทหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ จำนวนมาก
ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดการฝึกอบรม สมาคมล่ามภาษามือฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในหลายภาคส่วน ทั้งสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย (สหท.) และนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ เพื่อร่วมกันวางกรอบการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ใน 4 ขั้นตอน ครอบคลุมระยะเวลา 12 เดือน ดังนี้ 1. เก็บข้อมูลภาคสนาม โดยการลงพื้นที่สำรวจข้อจำกัดและความต้องการของล่ามภาษามือ 2. วิเคราะห์ข้อมูลที่ล่ามต้องการ เพื่อเป็นกรอบในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน 3. ออกแบบหลักสูตรที่มุ่งเพิ่มศักยภาพสำคัญของล่าม และ 4. พัฒนาความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อกิจการโทรทัศน์ โดยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพล่ามภาษามือในกิจการโทรทัศน์รวม 50 คน ผ่านการแบ่งกลุ่มอบรม 3 รุ่น ใน 5 วัน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยมีล่ามภาษามือ ที่ให้บริการในกิจการโทรทัศน์ประมาณ 50 คน ดร.โสภณ กล่าวทิ้งท้าย