เทคโนโลยี

นศ. Industrial Design มจธ. สุดเจ๋ง คว้ารางวัลการออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับโลก

“ตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยธรณ์จะตั้งใจเรียนวิชาออกแบบมากที่สุด เพราะชอบเรื่องออกแบบมากมาตั้งแต่เด็ก ๆ ธรณ์รู้ตัวเองตั้งแต่ตอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นว่า จะเลือกศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และจะศึกษาต่อระดับปริญญาโทในต่างประเทศตามที่วางแผนไว้ ซึ่งมหาวิทยาลัยในต่างประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดเกรดหรือผลการเรียนขั้นต่ำ 3.50 แต่ธรณ์ทำผลการเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-3 ได้ไม่ค่อยดีเลยกลัวว่าจะไม่สามารถเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจไว้ได้ จึงคิดว่าต้องหาวิธีที่จะทำให้ Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานให้ดูน่าสนใจในมุมที่อาจารย์ที่ต่างประเทศจะพิจารณารับธรณ์เข้าศึกษาต่อ และการส่งผลงานเข้าประกวดซึ่งหากได้รับรางวัลชนะก็อาจจะทำให้ได้รับการพิจารณามากขึ้น” คำบอกเล่าของ นายณัชธรณ์ อุลิศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ปัจจุบัน นายณัชธรณ์ อุลิศ หรือ ธรณ์ เป็นเจ้าของผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถคว้ารางวัลระดับโลก และเป็นนักศึกษาไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการเข้าร่วมแข่งขันรายการ European Product Design Award 2020 ในประเภท Design for Society/ Eco-Sustainable Design

ธรณ์ เล่าว่า “เพราะชอบออกแบบจึงชอบดูผลงานของนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เพื่ออัปเดตตัวเอง ประกอบกับองค์ความรู้ในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) และที่คณะฯเน้นสอนแบบ Human Factor คือ สอนให้การออกแบบจะต้องคิดถึงผู้ใช้งานเป็นหลักเสมอ เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นการเรียนในรูปแบบ Lab-based learning ได้รับเลือกให้เรียนในโปรแกรม Experiential Learning Platform ที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. และ Jacob Jensen Design สถาบันออกแบบระดับโลกจากประเทศเดนมาร์ก จึงได้ซึมซับวิธีคิดต่างๆ จากการเรียนในห้องเรียนที่ มจธ. และการเรียนแบบ Lab-based learning มาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบที่ส่งเข้าแข่งขันในครั้งนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากทดลองทำแบรนด์เป็นของตัวเอง”

การประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ European Product Design Award 2020 ประเภท Design for Society/Eco-Sustainable Design ธรณ์เล่าว่า “เริ่มสมัครเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 เป็นรายการประกวดที่ผู้เข้าร่วมประกวดส่วนใหญ่เป็นนักออกแบบ หรือ Designer เพราะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ Designer รุ่นใหม่ส่งผลงานเข้าประกวด หากผลงานชิ้นใดได้รับรางวัลก็จะได้รับความสนใจจากนายทุนหรือนักลงทุนนำไปต่อยอด เสมือนเป็นเวทีที่ช่วยส่งเสริมการขายให้กับงานออกแบบ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 มีประเทศที่เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 40 ประเทศ สำหรับโจทย์การประกวดมีให้เลือกมากถึง 21 หัวข้อ แต่ตนเลือกออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้ 3 หัวข้อ คือ Product Design, Sustainability และ Society Design เพราะเป็นเรื่องที่เรียนมาและคิดว่ามีความเชี่ยวชาญมากที่สุด ประกอบกับต้องการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพราะอยากพิสูจน์ตัวเอง และที่เลือกออกแบบเก้าอี้เพราะเห็นว่านักออกแบบระดับโลกส่วนใหญ่มักจะเลือกออกแบบเก้าอี้ และเก้าอี้ก็นำพาให้พวกเขาเป็นที่ยอมรับได้ในระดับโลก”

สำหรับผลงาน “ULISS” ได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภท Design for Society/Eco-Sustainable Design มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ภายใต้แนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืน ซึ่งการออกแบบเก้าอี้ ULISS ธรณ์กล่าวว่า “แนวคิดในการออกแบบจะเป็นเก้าอี้ที่สามารถแยกชิ้นส่วนหรือถอดประกอบได้ทุกชิ้น ขา พนักพิง อาร์มแชร์ และเบาะรองนั่ง เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการขนส่ง ช่วยเพิ่มพื้นที่ในการจัดเก็บมากขึ้น เช่น จากเดิมบรรจุได้ 100 ตัว ต่อหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ แต่เก้าอี้ ‘ULISS’ ที่ออกแบบใหม่จะสามารถบรรจุได้ถึง 1,000 ตัว ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนในการขนส่งได้เป็นอย่างมาก”

“นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดให้แต่ละชิ้นส่วนของเก้าอี้สามารถนำวัสดุใดก็ได้มาประยุกต์ใช้ เช่น เบาะนั่งที่ทำจากพลาสติก หนัง หรือผ้า ซึ่งล้วนเป็นวัสดุรีไซเคิลที่ผู้ใช้สามารถรู้แหล่งที่มาของวัสดุแต่ละส่วนได้ ทำให้ผู้ใช้สามารถออกแบบและประกอบเก้าอี้ได้ด้วยตัวเอง ว่าต้องการแบบไหน และสามารถผสมผสานจับคู่สีที่ชอบได้ เป็นการช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ทำให้การออกแบบตกแต่งบ้านกลายเป็นเรื่องสนุกและลงตัวมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งฟังก์ชันของการใช้งาน ภายใต้แนวคิดที่ว่าเก้าอี้จะทำให้ผู้มาเยือนรู้ถึงตัวตนของเจ้าของบ้านได้” ธรณ์กล่าวเสริม

“อาจารย์หลายๆท่านที่คณะฯได้ให้คำแนะนำว่าการเป็นนักออกแบบต้องเน้นที่ประสบการณ์ หากอยากเป็นนักออกแบบจึงไม่ได้แค่เรียนหรือวาดรูปสวยๆ เท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นอีกมาก และส่วนตัวเชื่อว่าการจะเป็นนักออกแบบ จะต้องมาจากความชอบและความมุ่งมั่นเพราะคนที่เรียนด้านนี้มีมาก คู่แข่งจึงมีมาก การออกแบบจึงวัดกันที่ผลงานที่ออกมาว่าสวยและมีคนชื่นชอบผลงานหรือไม่ ไม่ใช่แค่ตัวเองที่คิดว่าสวยแต่คนอื่นไม่ชอบก็เท่านั้น จึงอยากฝากถึงรุ่นน้องๆ ว่า ให้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบดีที่สุด เพราะถ้าไม่ชอบก็จะทำอะไรออกมาได้ไม่ดี” ธรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ การประกาศผลรางวัล The European Product Design Award™ มีขึ้น เพื่อเป็นการยกย่องสุดยอดนักออกแบบและทีมออกแบบที่มีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนง่ายยิ่งขึ้น ผ่านการออกแบบที่สวยงามและใช้งานได้จริง ช่วยขจัดความซับซ้อนทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนง่ายและมีความสุขมากขึ้น โดยในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากกว่าหนึ่งพันผลงานจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งผลงานการออกแบบของนักศึกษา มจธ. เป็นผลงานการออกแบบโดยนักศึกษาหนึ่งเดียวในไทยที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันในครั้งนี้

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button