สูงวัยเตรียมฟิตเดินเหินคล่องตัว ! กทปส. ผุด “นวัตกรรมฟื้นฟูกล้ามเนื้อ”หวังป้อน รพ.- ศูนย์กายภาพชุมชน
สูงวัยเตรียมฟิต ! เดินเหินคล่องตัว กทปส. ผุด “นวัตกรรมฟื้นฟูกล้ามเนื้อ” ตามหลักกายภาพหวังป้อน “รพ.- ศูนย์กายภาพชุมชน” หลังพบไทยขาดแคลนนักกายภาพหนัก จับมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำร่องทดสอบประสิทธิภาพแห่งแรกที่ที่แรกโรงพยาบาลตรัง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด” หรือ “Hyper-aged society” อย่างเต็มตัวแล้ว จากการคาดการณ์การเติบโตของประชากรผู้สูงอายุ ในวัย 65 ปีขึ้นไป ภายในปี 2578 จะคิดเป็น 25% ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมากับวัยที่เพิ่มขึ้น มักเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคกลุ่มกระดูกและข้อ และ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ซึ่งลักษณะของอาการดังกล่าว จำเป็นต้องพึ่งพาการรักษาแบบเฉพาะทางตามหลักกายภาพศาสตร์ แต่ทั้งนี้ กลับพบว่า นักกายภาพบำบัด 1 คน ต้องรักษาผู้ป่วย 23,614 คน ซึ่งประชากรไทยทั้งหมด 72 ล้านคน จะต้องมีนักกายภาพบำบัดถึง 32,180 คน ถึงจะเพียงพอ (ที่มา: สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย) ดังนั้น จึงส่งผลกระทบต่อให้นักกายภาพมีภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นแบบทวีคูณ
นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า กทปส. เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ ที่เอื้อต่อการรักษาและการดูแลผู้ป่วยได้โดยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัด หรือผู้สูงอายุ ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลหรือไม่สะดวกที่จะเดินทางมายังโรงพยาบาลสามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายดังกล่าวโดยการใช้เทคโนโลยีผ่านระบบสื่อสารได้ เพื่อลดภาระงานของนักกายภาพบำบัด อีกทั้งยังสามารถติดตาม/ช่วยเหลือผู้ทำกายภาพบำบัด และผู้สูงอายุ โดยที่ผู้สูงอายุสามารถทำกายภาพบำบัดที่ถูกต้องด้วยตนเอง หรือศูนย์ส่งเสริมสุขภาพใกล้บ้าน ผ่านการจัดสรรงบประมาณแก่ นักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนา “นวัตกรรมฟื้นฟูกล้ามเนื้อ” ภายใต้โครงการ “การขยายผลระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร สำหรับประโยชน์สาธารณะ”
นพ. สมบัติ สธนเสาวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง กล่าวว่า สำหรับสถิติผู้ป่วยโรงพยาบาลตรัง ประจำปี 2563 ในกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับข้อเข่า อาทิ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท รวมทั้งสิ้น 2,822 คน ที่โดยส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการรักษาฟื้นฟูด้วยวิธีกายภาพบำบัด ซึ่งที่ผ่านมา โรงพยาบาลมีข้อจำกัดในการฟื้นฟูรักษาใน 2 มิติสำคัญ คือด้านปริมาณของ นักกายภาพบำบัด ที่ปัจจุบันมีจำนวน 4 ราย และด้านงบประมาณ ในการจัดซื้อนวัตกรรมที่มีส่วนสำคัญในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว แต่ทั้งนี้ เมื่อทีมนักวิจัยจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้นำ “อุปกรณ์บริหารเข่า” ภายใต้โครงการ “การขยายผลระบบติดตามอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัด ผ่านเครือข่ายสื่อสาร สำหรับประโยชน์สาธารณะ (อุปกรณ์บริหารข้อเข่าแบบไอโซโทนิก) เข้ามาเป็นตัวช่วยในการวัดผลการทำงานของนักกายภาพบำบัดว่า กล้ามเนื้อของผู้ป่วย มีอัตราการฟื้นฟูไปในเชิงบวกหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา พบว่าผลลัพธ์จากการทำกายภาพบำบัดตามหลักนั้น เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร. ธนิต เฉลิมยานนนท์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ได้ดำเนินการโครงการวิจัยต่อเนื่องเรื่อง “การขยายผลระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร สำหรับประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส. เพื่อนำไปพัฒนาระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัด ผ่านเครือข่ายสื่อสารสำหรับประโยชน์สาธารณะ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการเรียนการสอน ที่ได้การรับรองจากสภาวิศวกร ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และทีมสหวิทยาการ ที่จะบูรณาการประยุกต์ใช้งาน (Use Case) ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่โรงพยาบาล ชุมชน หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการ เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นรูปธรรมในวงกว้าง
โดยทางคณะวิจัย ได้ดำเนินการพัฒนาระบบและอุปกรณ์กายภาพบำบัดทั้งหมด 4 ชนิดดังนี้ 1. นวัตกรรมบริหารหัวไหล่ ระบบประมวลผลภาพ สำหรับการวัดองศาของการเคลื่อนไหวข้อไหล่ เพื่อใช้ในผู้ที่มีปัญหาข้อไหล่ติดหัวไหล่ 2. นวัตกรรมฝึกการขยายปอด ระบบประมวลผลภาพ สำหรับติดตามการทำกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูปริมาตรปอด 3. นวัตกรรมบริหารกล้ามเนื้อหายใจ (Smart Breath) ระบบติดตาม ช่วยบริหาร พร้อมทั้งวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจ และ 4. นวัตกรรมบริหารข้อเข่า ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่า การออกกำลังกายแบบไอโซโทนิก (Isotonic Exercise) ที่เน้นการยืดเหยียดเข่าโดยมีตุ้มน้ำหนัก(ถุงทราย)รัดบริเวณข้อเท้า อย่างไรก็ดี ระบบและอุปกรณ์ทั้งหมดจะทำการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเซิร์ฟเวอร์ (Server) และคลาวด์ เซิร์ฟเวอร์ (Cloud Service) ผ่านเครือข่ายสื่อสาร ซึ่งเป็นการออกแบบ พัฒนา และผลิตอุปกรณ์ต้นแบบทั้ง 4 ชนิด ให้ได้มาตรฐานสากลตามมาตรฐาน ISO 13485 และ IEC 60601 และเป็นประโยชน์ในระดับประเทศต่อไป
“ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลตรัง ที่ได้ให้การสนับสนุนและร่วมมือทางวิชาการกับทางคณะวิจัย ทั้งด้านสถานที่และบุคลากร รวมถึงดูแลนักศึกษาฝึกงานสหกิจในหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ ให้ทำการศึกษาใช้งานอุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่าที่ทางคณะวิจัยได้จัดทำขึ้น ซึ่งได้ทดลองใช้งานกับผู้ป่วย ผู้สูงอายุของทางโรงพยาบาล ขอขอบคุณ กทปส. ที่เล็งเห็นความสำคัญและส่งเสริมสนับสนุนทุนการวิจัย และการพัฒนา ทางคณะฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาในครั้งนี้ ทางผู้ป่วยและโรงพยาลาล จะสามารถทำภายภาพบำบัดได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้อง ด้วยอุปกรณ์ที่กลุ่มนักวิจัยพัฒนาขึ้น และสามารถได้รับความสะดวกและคล่องตัวในการดำเนินชีวิต พร้อมเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารได้อย่างทั่วถึง” รศ.ดร. ธนิต กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนางรัตนา เก้าเอี่ยง อายุ 79 ปี ผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท โรงพยาบาลตรัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนป่วยเป็นโรค กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท และได้เข้ารับการรักษาฟื้นฟูด้วยวิธีกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ณ โรงพยาบาลตรัง เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน โดยในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสทดลองใช้ อุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่า ในการบันทึกผลการฝึกทำกายภาพบำบัดโดยการเหยียดเข่าขึ้นและลง เพื่อบันทึกผลที่ได้จากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเหยียดเข่า โดยที่อุปกรณ์ช่วยบริการข้อเข่าจะทำการบันทึกผลที่ได้จากการทำกายภาพบำบัดและแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาการของกล้ามเนื้อ ในแต่ละอาทิตย์ที่ได้มาทำกายภาพบำบัด ซึ่งพบว่ากล้ามเนื้อของตนมีพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-8111, 02-554-8114 หรือติดตามความเคลื่อนไหวที่ www.facebook.com/BTFPNEWS และ https://btfp.nbtc.go.th