พลังงาน

EXCLUSIVE INTERVIEW เปิดวิชั่นซีอีโอ “ยูเอซี” นำทัพธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด

จากความโดดเด่นของผลการดำเนินงานในปี 63 ผ่านไป 9 เดือน สามารถทำกำไรสุทธิถึง 163 ล้านบาท ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุมเร้าอย่างหนักหน่วง แต่บริษัทสามารถฝันฝ่าอุปสรรคกลับมาเติบโตได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ทางกองบรรณาธิการ เว็บไซต์ “สำนักข่าวไทยมุง” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ชัชพล ประสพโชค” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เพื่อบอกเล่าวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กรจนสามารถนำพาองค์กรเติบโตแบบก้าวกระโดดแบบคำต่อคำ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

เปิดวิชั่นมู่งสู่ดิจิทัลและลดต้นทุนองค์กร

“วันนี้เราหันมาปรับการทำโรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีการลดต้นทุน เอาดิจิทัลมาช่วยเสริมประสิทธิภาพในองค์กรของเรา ถ้าระบบแข็งแรงพนักงานไม่ต้องมาทำงานที่ออฟฟิส แค่นี้ก็ลดการเดินทาง ลดค่าเช่าออฟฟิสได้แล้ว ส่วนเรื่องเป้าหมายยอดขาย หรือการขยายธุรกิจ ขอให้ใจเย็นๆ ขอรอดูสถานการณ์ของไวรัสโควิดก่อน” ซีอีโอ ยูเอซี เกริ่นถึงแนวคิดการบริหารท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงภายนอกหลายอย่างรุมเร้า

“ชัยพล” ขยายความว่า ยูเอซีเตรียมนำระบบดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้ทำงาน Work from anywhere เป็นการนำระบบไมโคซอฟท์มาใช้ในองค์กร ส่วนบริษัทลูกก็เปลี่ยนจากระบบ ERP เป็น Cloud  Base System ถ้าระบบเสร็จสมบูรณ์ก็จะช่วยพัฒนาระบบการทำงานให้ดีมากขึ้น

นอกจากนี้ ปีนี้ทางยูเอซี ได้ให้ความสำคัญในการลดต้นทุนบริษัท ถ้าเห็นตัวอย่างการปฏิบัติงานที่ประสบความสำเร็จเป็นเลิศ หรือ Best Practices เราก็พร้อมจะเปิดรับเอามาใช้ ซึ่งเรื่องแบบนี้บริษัทใหญ่ๆ จะเก่งมาก สามารถต้นทุนออฟฟิสต่อคนต่อหัวจะต่ำลงมากกว่าบริษัทกลางๆ เราก็เปิดกว้างมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริม อะไรที่มีประโยชน์เราต้องทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น

เช่นเดียวกับเกณฑ์มาตรฐานที่ดีของพนักงาน ซึ่งพนักงานคนหนึ่งจะต้องสร้างรายได้ให้ได้ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้ามีพนักงาน 100 คน แต่ละบริษัทก็จะสามารถสร้างรายได้ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 ยูเอซีสามารถทำตามได้เกณฑ์มาตรฐานนี้ ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะสามารถแข่งขันกับบริษัทของต่างประเทศได้ ในปีนี้เราพยายามพัฒนาพนักงานทำให้ได้เหมือนปีที่ผ่านมา แม้ว่ารายได้ลดลงไปเยอะตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังหวังจะกลับไปสู่เกณฑ์มาตรฐานเดิมที่เคยทำไว้ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องลดต้นทุนผมก็ยังยืนยันนะว่า ทางยูเอซีไม่มีนโยบายลดพนักงานนะ ยังดูแลกันอยู่ เพราะเรายังเป็นบริษัทคนไทยต้องดูแลกันเต็มที่

หัวใจสำคัญเน้นบริหารสภาพคล่องเป็นหลัก

อีกสิ่งหนึ่งที่ยูเอซีให้ความสำคัญ คือ การบริหารงานด้วยการเน้นสภาพคล่องเป็นหลัก สิ่งที่ทำคือ คืนหุ้นกู้ 400 ล้าน ขอออกหุ้นกู้ 300 ล้าน และพยายามลดค่าใช้จ่ายของกิจการลง ลดต้นทุนของบริษัทลงด้วยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในองค์กรให้ทันสมัย ตอนนี้จุดที่แข็งแรงก็คือ สภาพคล่องดี สถาบันการเงินซัพพอร์ต

และยังคงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ “25 ปี ก้าวต่อไปด้วยความยั่งยืน” ซึ่งประกอบไปด้วยแผนขยายการลงทุนด้าน Energy Efficiency ทั้งในประเทศ และกลุ่มประเทศ CLMV พร้อมทั้งการศึกษาการลงทุนโครงการ และการให้บริการในรูปใหม่ๆ ในกลุ่มโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป และได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยมีการขายหุ้นในบริษัทย่อยที่เป็น Non-Core Business เพื่อรองรับแผนการลงทุนที่กระชับขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ยูเอซียังโชคดีที่เราอยู่ภาคธุรกิจพลังงาน ซึ่งได้รับผลกระทบช้าหน่อย ส่วนธุรกิจเทรดดิ้งก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด แต่ตอนนี้การส่งออกทุกประเทศเริ่มมีการค้าขายแล้ว ประเทศที่ล็อคดาวน์ก็ทำไป แต่ก็มีประเทศที่เปิดค้าขายกันอยู่ ทำให้เริ่มมีดีมานด์ขึ้นมาแล้ว ในปีนี้ลูกค้าบางรายชะลอการใช้จ่าย แต่ปีหน้าจะต้องใช้ซื้อสินค้าอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าเราก็ต้องกลับมาซื้อสินค้าจากเรา คิดว่าปีหน้าธุรกิจเทรดดิ้งน่าจะกลับมาเติบโตได้” ซีอีโอ ยูเอซี กล่าว

แย้มผลประกอบการเติบโตก้าวกระโดด

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ กล่าวด้วยว่า ในปีนี้ผลการดำเนินธุรกิจของยูเอซียอดขายของกลุ่มลดลงเยอะ สาเหตุมาจากธุรกิจเทรดดิ้ง ที่กลุ่มปิโตรเคมี น้ำมัน ลูกค้ากระทบเยอะ จากไวรัสโควิดระบาดและสงครามราคาน้ำมัน ราคาเม็ดพลาสติก แต่โรงงานยังปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ จ.เชียงใหม่ โรงไฟฟ้าแก้สที่ จ.สุโขทัย โรงผลิตกาวที่ จ.นครราชสีมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้จากการขายและการให้บริการลดลง แต่สามารถทำกำไรสุทธิได้อย่างน่าพอใจ ซึ่งงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 163.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.78% เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 112.96 ล้านบาท โดย Gross Margin เพิ่มขึ้น 7.7% มาอยู่ที่ 19.51% โดยบริษัทฯออกนโยบายประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 14.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ส่งผลให้ EBITDA งวด 9 เดือนแรกปี 2563 อยู่ที่ 296.92 ล้านบาทเข้าใกล้เป้าหมายปี 2563 ที่ 350 ล้านบาท

ส่วนไตรมาส 3 ยูเอซีมีรายได้จากการขายและการให้บริการ จำนวน 276.39 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 362.50 ล้านบาท แต่ด้านกำไรสุทธินั้นเพิ่มขึ้นกว่า 303% อยู่ที่ 30.09 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา

“ชัชพล” ระบุว่า กำไรปรับขึ้นมาบวกเยอะมาก  มาจากธุรกิจเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) ซึ่งถือหุ้นอยู่ 30% เป็นการทำธุรกิจไบโอดีเซล เนื่องจากการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลของภาครัฐที่ปรับให้มีการใช้น้ำมันดีเซลจาก B7 เป็น B10 และให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา และคาดว่าความต้องการไบโอดีเซลในช่วงครึ่งหลังของปี 63 จะเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 3 ปีนี้ยูเอซียังสามารถบันทึกกำไรจากเงินปันผลระหว่างกาลของ BBF อีกจำนวน 71.78 ล้านบาท  ทำให้มีสภาพคล่องสูง คณะกรรมการบริษัทจึงมีมติอนุมัติการจ่ายปันผลระหว่างกาล จำนวน 0.06 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่จะถึงนี้ พร้อมกันนี้ เรายังมีแผนจะสร้างแพลนใหม่เป็นต่อยอดจากการเข้าไปผลิตไบโอดีเซลด้วย

“ปีนี้เฉพาะช่วงไตรมาส 1 และ 2 มันก็ดีกว่าปี 62 ทั้งปีแล้ว กำไรสุทธิ 60-70 ล้านบาททั้งปี ดังนั้น ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้นไปอยู่ราวๆ 80-90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเท่าหนึ่ง”

 เปิดกว้างยินดีร่วมพันธมิตรลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน

ส่วนแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น ที่ผ่านมายูเอซีซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ UAC Energy ได้เข้าไปร่วมลงนามในสัญญา เพื่อเข้าเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างระบบไบโอแก๊สจากวัตถุดิบเหลือทิ้งจากขบวนการผลิตของโรงงาน (ซังข้าวโพด) กับบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) เป็นการนำตัวอย่างเทคโนโลยี และประสบการณ์ ในการเดินระบบผลิตไบโอแก๊สจาก พืชพลังงาน ของโรงงาน แม่แตง 2 ของยูเอซีมาใช้ ซึ่งเป็นการเตรียมทีมสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนอยู่แล้ว เมื่อโรงไฟฟ้าชุมชนยังไม่มาก็ส่งทีมไปช่วยก่อน เป็นการฝึกความรู้ความชำนาญไปในตัวระหว่างรอโรงไฟฟ้าชุมชนจะเกิดขึ้น

วันนี้มาถึงจุดโรงไฟฟ้าชุมชนไม่ใช่ยูเอซีทำคนเดียว แต่ใครทำก็ได้ กล่าวคือ เมื่อมีผู้ได้ใบอนุญาตมา แล้วคิดว่าเรามีความพร้อมอยากให้เข้าไปช่วยเหลือ เราก็ยินดีเข้าไปคุย ไม่ว่าจะเป็นการให้เราไปถือหุ้น หรือให้คำปรึกษาก็ตาม”

ในส่วนความพร้อมลงทุนเราก็มีโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สที่ขอนแก่นเตรียมพร้อมเข้าไปเสนออยู่แล้ว ถ้าเปิดมาเราก็พร้อมนำเสนอโครงการนี้ก่อน 3 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายแห่งที่เตรียมไว้ อาทิ เชียงใหม่ ลำปาง ตามที่กระทวงพลังงานมีนโยบายดำเนินการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ครึ่งหนึ่งจำนวน 75 เมกะวัตต์ จะเป็นไบโอแมส อีกครึ่งหนึ่งจำนวน 75 เมกะวัตต์จะเป็นไบโอแก้ส ถ้าให้ทำคนละไม่เกิน 3 เมกกะวัตต์ ก็จะได้ 25 โครงการต่อเทคโนโลยี

สุดท้าย “ชัชพล” ทิ้งปริศนาให้ชวนจับตากับบทบาทของ “ยูเอซี” เตรียมขยับตัวมองหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ เป็นภารกิจ “นิวเจน” เป็นการฉีกแนวการทำธุรกิจแบบเดิมจากพลังงาน และผลิตภัณฑ์เคมี ส่วนจะเป็นธุรกิจอะไร ต้องรอติดตามกันต่อไป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button