YOUNGBLOOD UAC “พลอย” อลิสา ชีวะเกตุ ถือธงนำ “รีแบรนด์ ยูเอซี” 25 ปี
หากเอ่ยชื่อ “พลอย” อลิสา ชีวะเกตุ หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่ แต่อาจจะพอนึกถึงนามสกุล “ชีวะเกตุ” ขึ้นมาได้บ้าง
แน่ละ…เพราะเธอคือ ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนคนที่สองของ “คุณกิตติ ชีวะเกตุ” นักธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทยที่ทุกคนรู้จักกันดี ในฐานะประธานกรรมการ หรือเจ้าของ บมจ. ยูเอซี โกลบอล ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเทรดดิ้ง ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ หรือเจ้าของโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่มีนักลงทุนจากทั่วสารทิศเดินทางไปศึกษาดูงานอย่างไม่ขาดสาย
เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา “พลอย” ในวัย 26 ปี เธอได้รับไม้ต่อจากคุณพ่อเข้ามารับตำแหน่ง Corporate Image & Treasury Manager ที่ยูเอซี หลังจากเข้าไปทำงานฝึกปรือวิทยายุทธ์ด้านการตลาดอสังหาริมทรัพย์กับบริษัท บริษัท CBRE ประเทศไทย มาได้ระยะหนึ่ง
การก้าวย่างสู่ชายคา “ยูเอซี” นับว่าเป็นการท้าทายและต้อนรับน้องใหม่ได้อย่างเข้มข้นทีเดียว เพราะเป็นช่วงเดียวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พอดิบพอดี
แต่อาศัยประสบการณ์การเรียนรู้จากที่ทำงาน และพกพาดีกรีจาก “รั้วจามจุรี” มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางด้าน BSc in Design and Architecture, First Class Honour และปริญญาโท Cass Business School, City University of London, UK: MSc Management, Graduated with Merit ทำให้เธอเข้มแข็ง และตกผลึกแนวคิดที่จะปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่ พร้อมๆ กับการขับเคลื่อน “ยูเอซี” ไปสู่โลกยุคดิจิทัล
วันนี้ “พลอย” เธอได้ลุกขึ้นมาปรับภาพลักษณ์องค์กรครั้งใหญ่ ผ่านตัวตนของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นงานที่เธอดูแลด้าน Corporate Image เกี่ยวกับพีอาร์ และแบรนด์ดิ้ง รวมถึงงานซีเอสอาร์ นอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นด้าน Treasury การติดต่อนักลงทุนสถาบัน และกองทุน
ประจวบเหมาะปีนี้ตรงกับวาระโอกาส “ยูเอซี” ครบรอบ 25 ปี ก็เลยมาจับการ “รีแบรนด์” โดยได้วางแผนเริ่มต้นจากภายในองค์กรไปสู่ภายนอก หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์จากข้างในก่อน ด้วยการค้นหาตัวตนผ่านบุคลากร หรือพนักงาน เพื่อกำหนดเป็นอัตลักษณ์ของยูเอซี ซึ่งจะมีการนำข้อมูลจากลูกค้า พีอาร์ และสื่อ มาผสมผสานกันเข้าไปด้วย ซึ่งการรีแบรนด์ครั้งนี้จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และใช้เวลาค่อนข้างพอสมควร
และเพื่อให้สอดรับกับโลกยุคดิจิทัล ยูเอซีเตรียมนำระบบไมโครซอฟท์เข้ามาช่วยในการทำงานให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองการทำงาน Work from Home ซึ่งที่ผ่านมามีการติดต่อขาดหายไปบ้าง จึงได้เสริมช่องทางการสื่อสารภายในองค์กรให้แข็งแรงขึ้น เพื่อจะได้ไม่มีจุดติดขัด ภายใต้การร่วมมือการทำงานกับทาง Human Resources : HR หรือฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลด้วย
อีกหนึ่งโฉมหน้าที่จะเป็นเปลี่ยนแปลงไป คือ จะมีการใช้โซเชียลมีเดียประชาสัมพันธ์องค์กรมากขึ้น เช่น พัฒนาเว็บไซต์องค์กรให้มีความทันสมัย และนำข้อมูลจาก Google Analytics มาใช้ด้วย
เช่นเดียวกับช่องทางการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ สื่อดังเดิม เช่น หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ก็ยังเลือกใช้ตามปกติเหมือนที่ผ่านมา แต่จะมีการเพิ่มช่องทางสื่อดิจิทัลเข้ามา เพื่อขยายการรับรู้ไปกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์
ทั้งหมดนี้เป็นวิถีใหม่ของยูเอซี ที่ “พลอย” ฉายภาพให้เห็นจังหวะก้าวเดินตามเทรนด์โลกยุคดิจิทัล ซึ่งพร้อมรองรับการเติบโต และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง