เบื้องลึก ! ค้านรถไฟฟ้าสายสีเขียวโขกค่าโดยสาร 104 บาท
“กรมขนส่งทางราง” ค้านสุดตัว กทม. เรียกเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย 104 บาท ชี้เป็นการสร้างภาระค่าเดินทางให้กับประชาชน และการดำเนินการขัดกับ มติ ครม. แนะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันหารือทางออก ปิ๊งไอเดียลดค่าโดยสารก่อนสัมปทานสิ้นสุดปี 2572
หลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เต็มทั้งระบบตั้งแต่วันที่ 16 เดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา จึงเตรียมจะเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวตั้งแต่วันที่ 16 เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่จะถึงนี้ โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายสูงสุดจะอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงจะเก็บอัตราค่าโดยสารตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท ซึ่งความจำเป็นในการเก็บค่าโดยสารสูงสุดครั้งนี้ กทม. อ้างว่า มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และต้องแบกรับภาระการขาดทุนในการการดำเนินการปีละ 3-4 พันล้านบาท ช่วงปี 2564-2572
ล่าสุดนายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า จากกรณีที่ทาง กทม. ได้ออกประกาศเพื่อปรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท โดยมีการแบ่ง 4 ช่วงดังนี้
1.ช่วงสัมปทานของบีทีเอส (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน) ค่าโดยสาร 16-44 บาท
2.ส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต ค่าโดยสาร 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท)
3.ส่วนต่อขยายอ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท)
4.ส่วนต่อขยายสะพานตากสิน-บางหว้า 15-33 บาท (ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท)
นายกิตติพันธ์ ระบุว่า กทม. ได้ให้เหตุผลไว้ว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้เปิดให้บริการเดินรถ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2561 และเปิดให้บริการเต็มทั้งระบบในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นระยะเวลา 3 ปี ที่ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และปัจจุบันได้เปิดให้บริการครบทุกเส้นทาง จึงเป็นสาเหตุให้ต้องมีการเริ่มเก็บค่าโดยสารในอัตราดังกล่าว ประกอบกับ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) พิจารณาแล้วเห็นว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่กทม.ประกาศมานั้น เป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่สร้างภาระค่าเดินทางให้แก่ประชาชนที่ดำเนินการและไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เนื่องจาก กทม. ได้เคยมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อยืนยันความพร้อมในการรับโอนทรัพย์สิน หนี้สินของโครงการฯ แล้ว ก่อนที่ ครม. จะมีมติให้โอนทรัพย์สิน หนี้สินระหว่าง กทม. และกระทรวงคมนาคม (คค.) ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 โดย ขร. เห็นสมควรให้ กทม. พิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม เพื่อให้ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมติ ครม. ดังกล่าว ที่กำหนดให้ คค. และ กทม. บูรณาการร่วมกันในการกำหนดอัตราแรกเข้า อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน รวมถึงเจตนารมณ์ของ คค. ที่มอบทรัพย์สินในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ให้กับ กทม. ได้กำหนดให้กทม. กำหนดอัตราค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับค่าครองชีพของผู้ใช้บริการ และไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป
โดยที่ผ่านมา ขร. ได้มีข้อเสนอแนะในการขยายสัญญาสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรณีอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้อย่างชัดเจนว่า การคิดอัตราค่าโดยสาร นั้นต้องคำนึงถึงความเหมาะสม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารสามารถกำหนดได้ถูกกว่า 65 บาทตลอดสาย และควรกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ ซึ่งจะทำให้การจราจรใน กทม. เบาบางลง ซึ่งปัจจุบันพบว่า ผู้มีรายได้น้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็น 35% ของค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้น การกำหนดอัตราค่าโดยสารควรวิเคราะห์จากต้นทุนที่แท้จริง และเห็นว่าหากกำหนดราคาถูกลงจาก 65 บาทตลอดสาย ในอนาคตจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเส้นหลักของเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ย่อมส่งผลให้สามารถลดอัตราค่าโดยสารลงได้มากกว่านี้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ขร. เห็นควรให้ทุกฝ่ายหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดความสุขใจแก่สาธารณชน และไม่เป็นภาระกับรัฐจนเกินสมควร นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาอัตราค่าโดยสารในช่วงก่อนสัมปทานส่วนหลักสิ้นสุดลงในปี 2572 เช่น จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพยุงอัตราค่าโดยสาร และนำรายได้ในอนาคตมาชำระคืนกองทุนภายหลัง เป็นต้น
ขร. เห็นว่ากระทรวงมหาดไทย (มท.) และ กทม. ควรเร่งดำเนินการส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กระทรวงคมนาคม ตามที่กระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปแล้วกว่า 1 เดือน ทั้งนี้ ขร. จะมีหนังสือถึง กทม. เพื่อขอให้ระงับการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร และให้ดำเนินการตามมติ ครม. ข้างต้น พร้อมทั้งจะดำเนินการหารือกับ มท. และ กทม. เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ
“ขร. ขอยืนยันว่าการดำเนินการของ กทม.ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกระทรวงคมนาคม และ ขร.ขอยืนยันว่า กทม. ควรดำเนินการให้ถูกต้องตามมติของคณะรัฐมนตรีในการบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการพิจารณาอัตราค่าโดยสารด้วยความรอบรอบ คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก และเห็นควรให้ชะลอการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารสายสีเขียวดังกล่าว จนกว่าจะได้มีการพิจารณาร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายในสัปดาห์หน้า ซึ่งกรมการขนส่งทางรางจะได้เชิญประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนร่วมกัน” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวทิ้งท้าย