3 การไฟฟ้า นำร่อง EERS ตั้งเป้าประหยัดไฟฟ้ากว่า 20 ล้านหน่วย
3 การไฟฟ้า ผนึกกำลังเดินหน้านำร่องมาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงาน หรือมาตรการ EERS พร้อมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับพันธมิตรและผู้เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งเป้าสามารถประหยัดไฟฟ้าในปี 2562 ได้กว่า 20 ล้านหน่วย
วันนี้ (13 พ.ค.62) นายวีรวัจน์ บัวทอง รองผู้ว่าการแผนและพัฒนาองค์กร การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นายศรัณย์พงศ์ อาชว์สุนทร รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และนายกฎชยุตม์ บริบูรณ์จตุพร รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมเป็นประธานในงานแถลงข่าว และการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการนำร่อง EERS
นายวีรวัจน์ บัวทอง รองผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการนำร่องมาตรการ EERS มีเป้าหมายเพื่อนำร่องศึกษาถึงผลการลดการใช้ไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และศักยภาพของภาคการใช้ไฟฟ้าต่างๆ จากการลงพื้นที่จริง โดย ในปี 2562 กฟน. มีโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานทั้งหมด 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ กฟน. ล้างแอร์ลดโลกร้อน เป็นโครงการที่ กฟน. ให้บริการล้างเครื่องปรับอากาศแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นประจำทุกปีในอัตราค่าบริการพิเศษเพียง 300 บาท จำนวนจำกัดที่ 25,000 เครื่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าตระหนักถึงการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศ และประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟฟ้าร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โครงการส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้าด้วยหลอด LED ซึ่งนำร่องในกลุ่มอาคาร/โรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก โดย กฟน. จะสนับสนุนผลประหยัดให้หน่วยละ 1 บาท รวมทั้งโครงการจำนวน 1 ล้านบาท เริ่มรับสมัครตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2562 หรือจนกว่าเงินสนับสนุนจะหมด ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดหรือดาวน์โหลดใบสมัครผ่านทางเว็บไซต์ กฟน. และโครงการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร (MEA Energy Saving Building) หรือโครงการประกวดอาคารประหยัดพลังงาน เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำด้านการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับอาคารที่ได้รับรางวัลจะได้รับเครื่องหมายแสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและเงินรางวัลโดยคาดว่าจะเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการได้ในปลายปี 2562
นายศรัณย์พงศ์ อาชว์สุนทร รองผู้ว่าการ PEA กล่าวว่า ในส่วนของ PEA ได้ดำเนินงานเพื่อรองรับมาตรการ EERS ในช่วงโครงการนำร่องฯ ปี 2562 ผ่าน 2 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานในภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และครัวเรือน ให้คำแนะนำในการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบธุรกิจ ESCO โดยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ อาทิ โครงการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานในมหาวิทยาลัยรามคำแหง โครงการภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันเพื่อพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในสำนักงานใหญ่การประปาส่วนภูมิภาค และการจัดงานสัมมนาในรูปแบบ ESCO Matching หรือประชุมสัมมนาผู้ใช้ไฟรายใหญ่ เพื่อแนะนำโครงการ EERS และเป็นสื่อกลางให้กับลูกค้า กับผู้ประกอบการธุรกิจ ESCO โดย PEA จะเข้าไปดำเนินการตรวจวัด และวิเคราะห์ประเมินผลการประหยัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่สนใจดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะจัดครั้งแรกในวันที่ 3 มิถุนายนนี้
ด้าน นายกฎชยุตม์ บริบูรณ์จตุพร รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้บูรณาการงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้ามาเป็นแนวทางและแผนงานโครงการนำร่องในปี 2562 อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย โครงการที่ปรึกษาพลังงาน เข้าให้คำปรึกษา ตรวจวัดการใช้พลังงานก่อนและหลังปรับปรุง รวมถึงเป็นที่ปรึกษาในรูปแบบ ESCO และเชิญชวนลูกค้าทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก (SME) เข้าร่วมโครงการ โครงการบ้านและอาคารเบอร์ 5 ดำเนินการนำร่องร่วมกับการเคหะแห่งชาติ ซึ่งจะมีแผนงานเปิดตัวบ้านเบอร์ 5 แห่งแรก ณ โครงการเคหะชุมชนบ่อวิน จังหวัดชลบุรี ในกลางเดือนมิถุนายนนี้ โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงานในสถานศึกษา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำรวจและตรวจวัดการใช้พลังงานของโรงเรียน ให้คำปรึกษาการจัดการพลังงาน จัดกิจกรรมให้ความรู้ จัดทำรายงานผลการประหยัดพลังงาน โครงการโรงแรมประหยัดพลังงาน ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการลดการใช้พลังงาน และวิเคราะห์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อจำนวนแขก เพื่อหาปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดได้ของแต่ละโรงแรม โครงการส่งเสริมการใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (RAC NAMA) ดำเนินการออกแบบตู้แช่ เพื่อใช้งาน Natural Refrigerant โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานภาคการเกษตร นำร่องเปลี่ยนหลอดประหยัดพลังงานที่ดอยอินทนนท์ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 Ranking หรือเบอร์ 5 ติดดาว จัดทำมาตรฐานการประหยัดพลังงานที่สูงกว่าเดิม และแบ่งระดับเกณฑ์ประสิทธิภาพฉลากเบอร์ 5 ให้สะท้อนผลการประหยัดพลังงานที่ละเอียดมากขึ้น และโครงการเสื้อผ้าเบอร์ 5 ส่งเสริมการติดฉลากเบอร์ 5 กับเสื้อผ้าเบอร์ 5
สำหรับมาตรการ EERS เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) ซึ่งเป็นมาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายพลังงาน (Energy Efficiency Resources Standards : EERS) โดยกำหนดให้ 3 การไฟฟ้า ดำเนินโครงการนำร่องในช่วงปี 2561 – 2565 เพื่อศึกษาถึงผลการลดการใช้ไฟฟ้า ก่อนนำมากำหนดแนวทางเป็นการดำเนินงานมาตรการภาคบังคับในปี 2566 – 2579 อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยแบ่งมาตรการดำเนินงานที่เหมาะสม 3 ประเภท ประกอบด้วย มาตรการให้คำปรึกษา ดำเนินงานในลักษณะที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพทุกภาคส่วน มาตรการใช้แรงจูงใจทางการเงิน สนับสนุนการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และมาตรการลักษณะภาพรวม (Mass) ส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาพรวม ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงโครงการนำร่องนี้ รวม 206 ล้านหน่วย