พลังงาน

ย้อนรอยวิบากกรรม “โรงไฟฟ้าชุมชน” ก่อนเปิดประมูล มี.ค. นี้ (ตอน 2) 

ข่าวดีการเปิดรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานราก ในวันที่ 13 มีนาคม 2563 เสมือนเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจผู้ที่รอคอยโรงไฟฟ้าชุมชนมายาวนานก็ว่าได้ แต่กระน้ันก็มีวิบากกรรมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาขวางกั้นจนได้..!! 

ห้องประชุมชั้น 15 อาคารเอ็นโก้ ที่จัดประชุมดูแคบลงไปถนัดตา เมื่อเหล่าขุนพลที่สนใจโรงไฟฟ้าชุมชนยกทัพมากันจำนวนมาก บวกกับมาตรการภาครัฐ “เว้นระยะห่าง” ทำให้คนล้นห้องประชุม ต้องเปิดห้องประชุมข้างๆ อีกห้องให้ผู้สนใจร่วมรับฟังความคิดเห็นผ่านไลฟ์สด เฟสบุ้ค

ดูทุกคนจะตื่นเต้นกับการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ แม้เป็นการเปิดรับซื้อไฟฟ้าปริมาณรวมไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ในกลุ่ม Quick Win ระยะเวลาลงทุน 20 ปี แต่หวังลึกๆ อีกไม่นานกลุ่มทั่วไปอีก 600 เมกะวัตต์ ก็จะตามมาติดๆ

จากหลักเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่ม Quick win กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าไว้ “คงที่” เปิดไปแข่งขันกันที่การมอบ “สิทธิประโยชน์” ให้กับชุมชน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ต่างพอใจ แต่อาจจะไม่สมหวังบ้างในประเด็นกำหนดให้แนบสำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รง.4 ลำดับที่ 88 และลำดับที่ 88 มาด้วย

อัตราค่าไฟคงที่นั้นยึดตามมติ กพช. วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่กำหนดค่าไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาทต่อหน่วย ชีวมวล 3 เมกะวัตต์หรือน้อยกว่า 4.8482 บาทต่อหน่วย ถ้ามากกว่า 3 เมกะวัตต์ 4.2636 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ น้ำเสีย/ของเสีย  3.36 บาทต่อหน่วย พืชพลังงาน 100% 5.3725 บาทต่อหน่วย และพืชพลังงานผสมน้ำเสียไม่เกิน 25% 4.7269 บาทต่อหน่วย บวก FiT Premium เพิ่ม 50 สตางค์ต่อหน่วยในพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา

ทุกโครงการไม่มีการ “บิดดิ้ง” ยกเว้นโครงการที่มีการทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน แต่สายส่งไม่เพียงพอเท่านั้น

ผลการคัดเลือกผู้ชนะจะพิจารณาจากผู้ที่เสนอผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน “มากที่สุด” ซึ่งด่านแรกได้กำหนดส่วนแบ่งรายได้ที่ชุมชนจะได้รับขั้นต่ำ 25 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิง ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ 50 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ Hybrid เข้ามา

และมีข้อปลีกย่อยกำหนดให้ผู้ยื่นผลิตไฟฟ้าเสนอให้สิทธิพิเศษกับวิสาหกิจชุมชนอีกมากมาย อาทิ ให้ผู้ยื่นผลิตไฟฟ้าต้องเสนอเงินพิเศษค่าเชื้อเพลิงให้กับวิสาหกิจชุมชน ให้ระบุเงินพิเศษค่าเชื้อเพลิงไว้ในสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันในรูปแบบเกษตร พันธสัญญา (Contract farming) ให้ถือหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10% การรับประกันอัตราเงินปันผลประจำปีให้แก่วิสาหกิจชุมชน เสนอเงินพิเศษสาหรับกิจกรรมเพื่อชุมชน การจ้างแรงงานภายในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน และเสนอแผนยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นจากเดิม

เรียกว่าเป็น “โอกาสทอง” ของเกษตรกรที่จะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ พอจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง…

หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็น พพ.ได้รวบรวมข้อเสนอต่างๆ นำไปปรับแก้ระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า แล้วเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563

เป็นการนับถอยหลังสู่การเปิดคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนครั้งแรก..!!

แต่หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ…

กกพ. ได้ชะลอการเปิดคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนออกไปก่อน เพราะกลัวจะเป็นการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ DPD2018 Rev.1 ยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. เลย

แผน DPD2018 Rev.1 ที่ผ่านความเห็นชอบจาก กพช. นั้น ได้บรรจุการรับซื้อไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเข้าระบบในปี 2563-2567 รวมทั้งสิ้น 1,933 เมกะวัตต์ เริ่มนำร่องลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนก่อน 700 เมกะวัตต์ในปี 2563-2564 แบ่งเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าเร่งด่วน หรือ Quick Win 100 เมกะวัตต์  และกลุ่มโรงไฟฟ้าทั่วไป 600 เมกะวัตต์ แต่ยังไม่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.แต่อย่างใด

ดังนั้น  เพื่อความถูกต้อง และป้องกันการฟ้องร้องในภายหลังจำเป็นจะต้องดำเนินการตามกระบวนการต่างๆ ให้ถูกต้อง ซึ่งจุดนี้สุ่มเสี่ยงจะทำให้โครงการล่าช้าออกไป

จนกระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมบอร์ดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นชอบแผน DPD2018 Rev.1 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ  ก่อนจะได้ส่งต่อเสนอ ครม. ต่อไป

อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานมีงานงอกให้มาทำเพิ่มอีก ที่ประชุมบอร์ดสภาพัฒน์ครั้งเดียวกันนี้ได้มีการบ้านให้กระทรวงพลังงานไปจัดทำ “แผนพลังงานแห่งชาติ” ขึ้นมาเป็นแผนแม่บทหนึ่งเดียวในการขับเคลื่อนพลังงานของประเทศ จากปัจจุบันมีแผนเยอะแยะเต็มไปหมดถึง  5 แผน ได้แก่ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan : PDP) 2.แผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficientcy Plan : EEP) 3.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas plan : GAS) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan : OIL)

การที่สภาพัฒน์ตั้งข้อสังเกตแบบนี้ มีเสียววาบเหมือนกันต้องลุ้นกันเหนื่อยแน่กว่า ครม. จะไฟเขียวผ่านความเห็นชอบโรงไฟฟ้าชุมชน

และแล้วก็ต้องลุ้นกันเหนื่อยจริงๆ เมื่อเวลาล่วงเลยเข้าเดือนกรกฎาคม 2563 ก็ยังไร้วี่แววความคืบหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนจะผ่าน ครม.

แถมยังมีข่าวไม่สู้ดี เมื่อสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้แจ้งไปยังกระทรวงพลังงานให้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเกือบ 2 พันเมกะวัตต์ เพื่อประกอบการพิจารณาแผน DPD2018 Rev.1 ด้วย

แม้กระทรวงพลังงานได้เร่งส่งเอกสารดังกล่าวกลับไป หวังจะให้ทันที่ประชุม ครม. พิจารณาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 แต่ทุกอย่างกลับเงียบเชียบต่อไป

คล้ายๆ กับว่าได้ส่งสัญญาณอะไรบางอย่างออกมาให้รู้กันเป็นนัยๆ…

เพราะจังหวะเดียวกันนี้ได้เกิดศึกภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กดดันให้รัฐมนตรี “4 กุมาร” ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการ พรรค พปชร. ประกอบด้วย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ, อุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงการคลัง (หัวหน้าพรรค พปชร.), สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว. กระทรวงพลังงาน (เลขาธิการ พรรค พปชร.)

และไฮไลต์ตกอยู่ที่กระทรวงพลังงาน ดูจะเป็นกระทรวงที่เนื้อหอมสุดๆ มีโผ ”ตัวเต็ง” ที่จะมานั่งเก้าอี้เสนาบดีคนใหม่ถึง 4 คน  ไม่ว่าจะเป็น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่จะข้ามห้วยจาก รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ,ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต รมช. กระทรวงคมนาคม และอดีตซีอีโอ ปตท.,อนุชา นาคาศัย  ว่าที่เลขาธิการ พรรค พปชร. และ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช. กระทรวงการคลัง

ในที่สุดก็นำไปสู่ฟางเส้นสุดท้ายขาดสะบั้น ทีมรัฐมนตรี “4 กุมาร” ทนแรงกดดันไม่ไหว ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีพร้อมกันที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563

โรงไฟฟ้าชุมชนที่กำลังลุกโชติช่วงชัชวาล กลับตาลปัตร “มืดสนิท” ลงในทันที.!!

ไทม์ไลน์ที่วางไว้สำหรับกลุ่ม Quick Win 100 เมกะวัตต์ กำหนดขายไฟฟ้า หรือ COD ภายในระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา ซึ่งคาดกันว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2564

แต่มีอันต้อง “เกมส์โอเวอร์” เสียก่อน

ถ้าหากโรงไฟฟ้าชุมชนไม่เผชิญวิบากกรรมปัญหาทางการเมืองเสียก่อน ในปี 2564 ทุกคนคงได้เห็นโฉมหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนตามแผนที่วางไว้ และได้เห็นตัวอย่างชุมชน “พึ่งพาตัวเอง” จากโรงไฟฟ้าที่ชุมชนเป็นเจ้าของ

และในปี 2564 นี่เองจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริง จากทฤษฏีที่ว่า

…หากชุมชนหนึ่งมีโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 1 เมกะวัตต์ มีระยะเวลาดำเนินงาน 20 ปี จะสร้างเงินหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจชุมชนตลอดอายุโครงการได้ประมาณ 280 ล้านบาท

ตัวเลขที่ว่านี้คิดจากเงินหมุนเวียนจากพืชพลังงานที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงราว 10 ล้านบาทต่อปี

เกิดกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้ามูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาทต่อปี

การสนับสนุนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่อีกราว 2.4 ล้านบาทต่อปี

และยังมีรายได้จากเงินปันผลจากโรงไฟฟ้าอีกราว 2 ล้านบาทต่อปี

หากเกษตรกรปลูกพืชพลังงานได้ผลผลิตเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เกษตรกรจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกราว 5 ล้านบาทต่อปี…

เจอวิบากกรรมระลอกใหญ่แบบนี้ ต้องไปลุ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ จะนำพาโรงไฟฟ้าชุมชน ภาค 2 เดินไปทางไหน…?

(ติดตามอ่าน ย้อนรอยวิบากกรรมโรงไฟฟ้าชุมชน ตอน 3)

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button