ย้อนรอยวิบากรรม “โรงไฟฟ้าชุมชน” ก่อนเปิดประมูล มี.ค. นี้ (ตอน 3)
ศึกชิงเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ กำลังฝุ่นตลบ !!
จู่ๆ “ตาอยู่ขี่ม้าขาว” สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ ก็ลอยลำคว้าตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปนั่งครอง แถมพ่วงเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ อีกหนึ่งตำแหน่ง การันตีมีแบ๊กอัพ “บิ๊กเบิ้ม” เป็นผู้หนุนหลังให้มาทำงานใหญ่ที่นี่
และแน่นอนสปอร์ตไลท์โฟกัสไปที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากทันที เพราะมีกระแสข่าวกระเส็นกระสายออกมาเป็นระยะๆ จะมีการยกเลิก “พลังงานชุมชน” ซึ่งอาจรวมหมายถึง “โรงไฟฟ้าชุมชน” ด้วย เนื่องจากโครงการดังกล่าวเกิดจากคนที่อยู่ละขั้วการเมืองไปแล้ว
ฤกษ์ดีเข้าทำงานวันแรกของรัฐมนตรีว่าป้ายแดง อดีตคนชายคา ปตท. ตรงกับวันที่ 14 สิงหาคม 2563 เวลา 07.00 น. หลังเข้าสักการะพระพรหม ณ ลานพระพรหม อาคารเอ็นเนอร์ยี่คอมเพ็กซ์ ว่าจะมีข่าวดี แต่สถานการณ์โรงไฟฟ้าชุมชนก็ยังอึมครึม…
รอจนกระทั่งวันที่ 20 สิงหาคม 2563 วันแถลงนโยบายครั้งแรกกับสื่อมวลชน ถึงพอเห็นเค้าโครงลางๆ กับความหวังของเกษตรกรขึ้นมาบ้าง
“โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องใช้ความรอบคอบ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้โครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ผลประโยชน์ตกอยู่ที่เกษตรกร ไม่ใช่ผลประโยชน์เป็นของโรงไฟฟ้า เพียงแต่โรงไฟฟ้าเป็นช่องทางที่จะทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ ต้องมีพื้นที่เพาะปลูกที่คุ้มค่าทดแทนพืชเศรษฐกิจเดิม เพื่อสร้างรายได้เกษตรกรให้ดีขึ้น”
“ผมให้นโยบายไปแล้วทำให้เร็วที่สุด มีการวางกติกาที่มีพิสูจน์ได้ว่า ทำแล้วเกษตรกรได้ประโยชน์ ส่วนจะเป็น 100 เมกะวัตต์ หรือ 200 เมกะวัตต์ ผมขอเวลา 30 วัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ แง้มข้อมูลออกให้รับรู้กันแค่นี้
จึงทำให้ม่านหมอกโรงไฟฟ้าชุมชนก็ยังอึมครึมต่อไป ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับลดการลงทุนจาก 700 เมกะวัตต์ เหลือสำหรับกลุ่มเร่งด่วน Quick win 100 เมกะวัตต์ และกลุ่มทั่วไป 100 เมกะวัตต์
หรือเคาะรวมกันแล้วให้เหลือ 150 เมกะวัตต์ เท่านั้น
จังหวะเดียวกันนี้ ครม. ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ Power Development Plan : PDP2018 Rev.1 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 หลังจากค้างท่อมาตั้งแต่ยุค “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” นั่งคุมว่าการกระทรวงพลังงาน
ถือเป็นการปลดล็อคโรงไฟฟ้าชุมชนที่รอคอยกันมานานเกือบปี…
มติ ครม. ครั้งนี้ได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ในปริมาณ 700 เมกะวัตต์ และให้กระทรวงพลังงานทำการประเมินผลการดำเนินงานในเรื่องของผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานราก และความยั่งยืนของโครงการให้ กพช. ทราบด้วย
กระทรวงพลังงานได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม.ด้วยว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายการส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก กพช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 และได้บรรจุโครงการฯ ไว้ในแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP2018 กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนในช่วงปี 2563-2567 ปริมาณรวมทั้งสิ้น 1,933เมกะวัตต์
โดยจะดำเนินการในระยะแรกปี 2563-2564 ปริมาณ 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการ Quick Win ที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 จำนวน 100 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564 จำนวน 600 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะประเมินผลการดำเนินงานโครงการระยะแรกในเรื่องผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานรากและความยั่งยืนของโครงการก่อนแล้วจึงจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือจำนวน 1,233 เมกะวัตต์ ในปี 2564 – 2567 เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
กระนั้นก็ดีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีความเห็นต่อที่ประชุม ครม. แสดงความเป็นห่วงการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดย กกพ. ระบุว่า “การปรับแผนการจัดหาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่กระทบต่อความมั่นคง แต่การปรับแผนการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโดยให้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 1,933 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2563-2567 จะมีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนควรพิจารณาด้านปริมาณ ราคา และระยะเวลาที่เหมาะสม”
การพูดคุยประเด็นการลงทุนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ เพื่อลดผลกระทบอัตราค่าไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเริ่มเสียงดังขึ้น แต่ก็มีการออกตัวไว้ เมื่อการประเมินความสำเร็จไปได้ดี จึงจะขยายลงทุนเพิ่มในส่วนที่เหลือต่อไป
เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ ได้แบ่งออกเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล รับซื้อ 75 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ รับซื้อ 75 เมกะวัตต์ ได้แก่ พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25 ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ
สัญญารับซื้อไฟฟ้าเป็นสัญญาแบบ Non-Firm ระยะเวลา 20 ปี กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา
ซึ่งต่อมาความจริงก็ปรากฏ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ได้เห็นชอบเป้าหมายลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 150 เมกะวัตต์ เท่านั้น
ความฝันของเกษตรกรพังครืนลงในพริบตา..!!
วันนี้โรงไฟฟ้าชุมชนเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญหลายประการ นอกจากเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าที่ลดลงเหลือ 150 เมกะวัตต์แล้ว ประเภทเชื้อเพลิงก็ปรับเปลี่ยนใหม่จากเดิมจะมีชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และเชื้อเพลิงแบบผสมผสานร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์
เหลือไว้แค่ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ได้แก่ พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25
ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายต่อโครงการ เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ แต่ของใหม่กำหนดให้โรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ
รูปแบบผู้เสนอโครงการเดิม คือ ภาคเอกชน หรือภาคเอกชนร่วมกับองค์กรของรัฐ แต่เงื่อนไขใหม่กำหนดเฉพาะภาคเอกชนเท่านั้น
ที่สำคัญการแบ่งผลประโยชน์เงื่อนไขเดิม ได้แก่ หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า และมีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ในอัตรา 25 สตางค์ต่อหน่วย ให้กับกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า (ขอบเขตตามหลักเกณฑ์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า)
เงื่อนไขใหม่กำหนดให้หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า และผลประโยชน์อื่นๆ สำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน ทั้งนี้ ให้กำหนดวัตถุประสงค์ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภคด้านการศึกษา เป็นต้น
ทำให้ชุมชนเสียรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าในอัตรา 25 สตางค์ต่อหน่วยแล้วยังสูญเสียโอกาสที่จะได้รับ “ผลประโยชน์” ที่จะเกิดจากการแข่งขันตอนยื่นเสนอด้วย
เพราะวิธีการคัดเลือกโครงการเงื่อนไขเดิม ใช้การประเมินคุณสมบัติขั้นต้นและให้คะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน ผู้สนใจที่ยื่นเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับชุมชนสูงสุดจะได้โครงการไป แต่เงื่อนไขใหม่ใช้วิธีแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding)
นั่นหมายความว่า เอกชนเสนออัตราค่าไฟต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะได้รับโครงการไปในที่สุด !!
ราคาประกาศรับซื้อไฟฟ้าในร่างประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ช่วงการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน วันที่ 21 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้ระบุอัตรารับซื้อไฟฟ้า ประกอบการ อ้างอิง มติ กพช.วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ว่า โรงไฟฟ้าชีวภาพ กำลังผลิตไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ FiT อยู่ที่ 4.8462 บาทต่อหน่วย กำลังผลิตมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FiT อยู่ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย ถ้าอยู่ในพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา บวก FiT Premium 50 สตางค์
โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ผสมน้ำเสีย ของเสีย ไม่เกิน 25% FiT อยู่ที่ 4.7236 บาทต่อหน่วย ถ้าอยู่ในพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา บวก FiT Premium 50 สตางค์
ซึ่งในส่วนการรับซื้อไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพครั้งนี้ นักลงทุนมองว่า มีการตัดการใช้วัตถุดิบประเภทพืชพลังงาน 100% ออกไป จากเดิมกำหนด FIT ไว้ที่ 5.3725 บาทต่อหน่วย ซึ่งรอบใหม่นี้ปรับเหลือแค่พืชพลังงานผสมกับน้ำเสีย ของเสียไม่เกิน 25% และกำหนดรับซื้อค่าไฟฟ้ามาอยู่ที่ 4.7236 บาทต่อหน่วย ทำให้การลงทุนไม่จูงใจ
“เงื่อนไขการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนไม่ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน และเกษตรกรก็เสียโอกาสที่จะขายหญ้าเนเปียร์ได้น้อยลง จากเดิมโรงไฟฟ้าจะใช้หญ้าเนเปียร์ได้ 100% ก็ต้องนำของดีๆ มาผสมกับน้ำเสีย ของเสีย ทำให้รายได้ลดลง”
“การเปิดแข่งขันด้านราคา เป็นการเปิดโอกาสให้มีการเสนอราคาต่ำที่สุด เพื่อจะได้โครงการไป ซึ่งนำไปสู่การเกิดความเสี่ยงสูงที่โครงการจะไม่เกิด เมื่อนักลงทุนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านโรงไฟฟ้าชุมชนเข้ามาเสนอโครงการด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ต่ำมากๆ แล้วชนะได้โครงการ แต่ไม่สามารถทำโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นจริงได้” แหล่งข่าว แสดงทัศนะเป็นห่วง
และที่กลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวลดูจะหนักไม่ต่างกัน ตอนนี้เริ่มมีวิสาหกิจชุมชนหลายกลุ่มแสดงอาการไม่สนใจเข้าร่วมกับภาคเอกชนแล้ว มีปัญหาไล่ตั้งแต่ “กล้าพันธุ์” ผลิตวัตถุดิบ ไปจนถึง “ภาคการผลิต”
ต้องจับตาการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนภายใต้เงื่อนไข “แข่งขันด้านราคา” จะซ้ำรอยหลายโครงการที่เกิดในลักษณะเดียวกันนี้ภายใต้ชายคา “กระทรวงพลังงาน” หรือไม่ ?
(ติดตามอ่าน ย้อนรอยวิบากรรม “โรงไฟฟ้าชุมชน” ตอนจบ)