“กัญชง” พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคตของไทย ตั้งเป้าสู่ฮับกัญชงของอาเซียน
“กัญชง” พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคตของไทย
ตั้งเป้าสู่ฮับกัญชงของอาเซียน
โดย อลงกรณ์ พลบุตร
ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ
กระแสกัญชงมาแรงหลังจากรัฐบาลปลดล็อกเปิดโอกาสให้สามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะ “กัญชง” (Hemp) เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา
ผมเคยเขียนเรื่องกัญชงครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปี 2562 และเสนอให้รัฐบาลปลดล็อคกัญชงเพราะกัญชงสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยสามารถแปรรูปใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยกว่า 10 กลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหารและยาจนถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และไฮเทค
ประการสำคัญคือ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงซึ่งเป็นองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำการวิจัยและพัฒนากัญชงมากว่า 10 ปี จนสามารถพัฒนาพันธุ์กัญชงผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นรายแรกและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท เรียกว่ามีองค์ความรู้และฐานข้อมูลดีที่สุดในบ้านเรา
กัญชง ถือว่าเป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย และกําลังเป็นสินค้าที่นิยมของผู้บริโภคกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งต้น ใบ เมล็ด เปลือก สามารถแปรรูปนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้มากมายหลากหลายอย่างตั้งแต่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่นําเส้นใยมาทําเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อีกทั้งทำเสื้อเกราะกันกระสุนชั้นดีที่มีน้ำหนักเบา และสามารถใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ทำเยื่อกระดาษ (โดยเฉพาะกระดาษพิมพ์ธนบัตร) วัสดุหีบห่อ ฉนวนกันความร้อน ไบโอพลาสติก ทำอิฐ (Hempcrete) หรือคอนกรีต สำหรับงานก่อสร้าง ทำส่วนประกอบรถยนต์ ทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น พรม เก้าอี้ เป็นต้น
นอกจากนั้น น้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ยังใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหาร ความงาม และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีทั้งโปรตีน วิตามินอี และโอเมก้าสูงมาก โดยนำไปทำเป็นอาหาร เช่น เส้นพาสต้า คุกกี้ ขนมปัง เบียร์ ไวน์ ซอส น้ำมันพืช เนยเทียม ชีส นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารเสริม เต้าหู้ โปรตีนเกษตร หรือผลิตเป็นแป้งทดแทนถั่วเหลืองได้เป็นอย่างดี มีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยรักษาไมเกรน โรคเกาต์ โรคบิด โรคลมชัก อีกทั้งนำไปทำน้ำมันซักแห้ง ทำสบู่ แชมพู โลชั่น เครื่องสำอาง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว รักษาโรคผิวแห้งคันและสะเก็ดเงินได้เป็นอย่างดี แม้แต่ในอุตสาหกรรมการเกษตร สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่างๆ เช่น ถ่านไม้ แอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น แกนของต้นกัญชงมีคุณสมบัติดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมัน ที่ประเทศญี่ปุ่นจึงมีการปลูกต้นกัญชงเพื่อช่วยดูดซับกัมมันตภาพรังสีอีกด้วยจากสรรพคุณที่กล่าวมาทั้งหมดถือได้ว่า กัญชงเป็นพืชมหัศจรรย์โดยแท้จริง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเส้นใยกัญชงและอุตสาหกรรมอาหารจากกัญชงเจริญเติบโตรวดเร็วมาก มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศอังกฤษนั้นเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมนี้ ในทวีปยุโรป เช่น ออสเตรีย เยอรมนี ฝรั่งเศส แคนาดา สวีเดน นิวซีแลนด์ มีองค์กรระดับชาติที่ส่งเสริมการปลูกกัญชงทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสหรัฐอเมริกามียอดขายผลิตภัณฑ์จากกัญชงหลายล้านดอลลาร์ต่อปี ในทวีปเอเชีย สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการผลิตกัญชงมากที่สุด และส่งออกกัญชงไปสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง สร้างรายได้มหาศาลให้เกษตรกรชาวจีน อีกทั้งจีนยังได้จดสิทธิบัตรไว้จำนวนมาก ซึ่งกัญชงยังถูกจัดเป็น 1 ใน 4 พืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศจีน
กัญชงหรือเฮมพ์ต่างจากกัญชา
“กัญชง” หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเฮมพ์ (Hemp) เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับ “กัญชา” (Marijuana) มีสาร CBD (Cannabioil) จำนวนมากและมีสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท หรือ สารเสพติด (Tetrahydrocannabinol: THC) น้อยมาก ในช่อดอกกัญชามีค่า THC ประมาณ 1-10 เปอร์เซ็นต์ แต่ในกัญชงมีค่า THC ประมาณ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ถึงกระนั้นในประเทศไทย กัญชงก็ยังถูกจัดเป็นพืชสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงปลูกอยู่ในวงจำกัดเฉพาะในพื้นที่ควบคุมเท่านั้นตามกฎกระทรวงสาธารณสุขปี2559
กัญชง เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว ที่สำคัญปลูกเพียง 3-4 เดือน ก็สามารถใช้การได้ ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย ไม่ต้องพรวนดินใส่ปุ๋ยหรือกำจัดวัชพืช กัญชงคุณภาพดีควรปลูกในพื้นที่อากาศ หนาวเย็นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 600 เมตร ดังนั้น จึงส่งเสริมให้ปลูกแต่ในภาคเหนือเท่านั้น
ประเทศไทย โชคดีที่มีสภาพภูมิอากาศและพื้นที่เหมาะสมกับพืชกัญชง จึงสามารถปลูกได้ 2-3 ครั้งต่อปี และด้วยการพัฒนาสายพันธุ์กัญชงใหม่ๆจะสามารถปลูกได้เกือนทุกภาคทุกจังหวัดทั่วประเทศ ขณะนี้มีพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตปลุกแบบควบคุมเพียง 5 จังหวัดเท่านั้น ต่อไปจะต้องปลดล็อคกัญชงให้เกษตรกรและ เอกชนปลูกโดยขออนุญาตได้ทั่วประเทศและต้องกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปกัญชงเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกโดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นฮับกัญชงของอาเซียน
พระมหากรุณาธิคุณ 17 ปีที่ทรงส่งเสริมกัญชง
ในปี พ.ศ. 2447 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ ทรงผลักดันให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาได้ปลูกกัญชง เพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้จากงานหัตถกรรม มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ศึกษาวิจัยสายพันธุ์กัญชงที่มีสารเสพติดต่ำ จนสามารถขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์และทดลองปลูกกัญชงในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงรายและ ตาก
เมื่อศูนย์ศิลปาชีพได้มีการส่งเสริมงานหัตถกรรมที่ถักทอผ้าจากใยกัญชง จนเรียกว่าทําเท่าไหร่ ก็ไม่พอขาย ในปี 2447 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ส่งเสริมการปลูกกัญชงในเชิงพาณิชย์ ที่บ้านใหม่คีรีราษฎร์และบ้านใหม่ยอดคีรี ตําบลคีรีราษฎร์ อําเภอพบพระ จังหวัดตาก ในพื้นที่ 97 ไร่ ปัจจุบันได้ขยายไปถึง 150 ไร่ โดยจัดสรรงบประมาณรวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าใยกัญชง พัฒนาเครื่องมือในการลอกเปลือกกัญชงออกจากลำต้น เพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลาการผลิต และพัฒนาผืนผ้าทอให้มีลวดลายที่เก๋ไก๋หลากหลายกว่าเดิม
จากนั้นเป็นต้นมา ผ้าทอใยกัญชงในบ้านเราก็เข้าสู่ยุคพัฒนา มีการทอผสมกับฝ้าย ทอผสมกับไหม หรือแม้แต่ทอผสมกับเส้นใยผ้ายีนส์ จึงได้ลักษณะของเนื้อผ้าที่แตกต่างกันออกไป เมื่อปรับปรุงดีไซน์ให้ทันสมัย จนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดคนรักงานหัตถกรรม
เส้นใยกัญชงของไทย จัดว่าเป็นวัสดุชั้นดี ระดับพรีเมี่ยม เพราะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี เมื่อปลูกจนลำต้นสูงได้ที่ประมาณ 2 เมตร จึงตัดต้น รีดกิ่งและยอดออก แล้วนำไปตากแดด 1 สัปดาห์ พอแห้งแล้ว จึงนำมาลอกเปลือกออก ต่อกันให้เป็นเส้นยาว ก่อนนำไปต้มในน้ำเดือดที่ผสมกับขี้เถ้า เพื่อฟอกให้นุ่มและเหนียว ก่อนย้อมด้วยสีธรรมชาติ โดยผู้แก่ผู้เฒ่าในหมู่บ้านจะช่วยกันม้วนเส้นใยกัญชงเป็นก้อน เป็นไจ เช่นเดียวกับไหมพรม เพื่อง่ายต่อกระบวนการผลิต จากนั้นก็กระจายไปให้สมาชิกในหมู่บ้าน ถักออกมาเป็นผลงานหลากหลายชนิด อาทิ เสื้อ กระโปรง กระเป๋า หมวก ผ้าคลุมไหล่ ผ้าปูโต๊ะ ปลอกหมอน เป็นต้น
ในต่างประเทศนั้น มีการใช้เครื่องที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ สามารถดึงเอาลิกนิน (สารใยความแข็งแกร่ง) ที่ผูกเส้นใยกัญชงออก ทำให้ได้เส้นใยที่อ่อนนุ่มเท่ากับเส้นใยของผ้าฝ้ายและผ้าขนสัตว์ สามารถนำมาทอย้อมได้เนื้อผ้าละเอียดนุ่มทนทาน
ด้วยประโยชน์จากเส้นใยกัญชงที่เหนียวนุ่ม แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย ให้ความอบอุ่นกว่าลินิน ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนล่อน ป้องกันรังสียูวีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมเนื้อผ้ายังมีเสน่ห์ สวยงามแปลกตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กัญชงจึงถูกนำมาแปรรูป ทําเป็นเครื่องนุ่งห่มมาเนิ่นนาน ยิ่งในประเทศญี่ปุ่นด้วยแล้ว ชาวญี่ปุ่นถือว่าใยกัญชงเป็นเส้นใยมงคล เฉกเช่นเดียวกับชาวม้ง ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมนำมาตัดกิโมโน (ราคาหลักแสนบาทไทย) เพราะเป็นผ้าที่มีความทนทานนับร้อยปี ทุกวันนี้ผ้าใยกัญชงกลายเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกเช่น Hermes Prada Converse Vans เป็นต้น ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชงของไทยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ส่งออกไปญี่ปุ่น ที่เหลือส่งไปยุโรป เช่น สวีเดน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
จากพืชวัฒนธรรมสู่พืชเศรษฐกิจ
“กัญชง” ควรค่ากับสมญานามคำว่าพืชมหัศจรรย์ได้แน่หรือกัญชง คือพืชพื้นบ้านที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมชาวเขาภาคเหนือมาตั้งแต่อดีตกาล โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าม้ง (Hmong) ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับกัญชงตั้งแต่เกิดจนตาย ชาวม้งจึงรู้จักปลูกกัญชงและสั่งสมภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากกัญชงมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ
ในภาษาม้ง เรียกกัญชงว่า “หมั้ง” หรือ “ม่าง” ชาวม้งเชื่อว่าเทพเจ้าหรือเย่อโซ๊ะ เป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ และได้ประทานพันธุ์พืชให้มนุษย์ได้ใช้ ซึ่งก็คือ “หมั้ง หรือ กัญชง” นั่นเอง ชาวม้งใช้ใบกัญชงแทนใบชา ใช้เมล็ดเป็นยารักษาโรคและเป็นยาบํารุงเลือด โดยเคี้ยวเมล็ดสดๆ เพื่อเป็นยาสลายนิ่ว ใช้เปลือกมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้สอยในชีวิตประจําวัน
ในคติความเชื่อชาวม้ง “กัญชง” เป็นเสมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์ โลกของเทพเจ้า และโลกของบรรพบุรุษ ถือเป็นของมงคล ชาวม้งจึงลอกเส้นใยจากเปลือกกัญชง นำมาทำเป็นสายสิญจน์ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ผูกมือให้กับเด็กที่เกิดใหม่ ใช้ในพิธีอัวเน้งหรือพิธีเข้าทรง ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญของชาวม้ง นำมาทอเป็นเสื้อผ้าใส่ในงานมงคลและวันปีใหม่ แม้แต่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรวมถึงรองเท้าของชาวม้งที่เสียชีวิต ล้วนทําจากใยกัญชงทั้งสิ้น ด้วยความเชื่อว่า จะสามารถเดินทางไปสู่สวรรค์และสื่อสารกับวิญญาณบรรพชนได้ หากไม่ใส่เสื้อผ้าที่ทอจากใยกัญชงแล้ว วิญญาณของผู้นั้นจะต้องล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย ดังนั้น กัญชงจึงเป็นพืชดั้งเดิมที่ใช้ประโยชน์ตามประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่าม้งมานานแล้ว
กัญชงมีลักษณะใกล้เคียงกับกัญชา จนคนทั่วไปแทบจะแยกไม่ออก รัฐจึงมีนโนบายห้ามปลูกกัญชงในประเทศไทย ทำให้ชาวม้งเสียอาชีพไป อีกทั้งชาวม้งในประเทศไทยยังต้องสั่งซื้อผ้าใยกัญชงเพื่อใช้ในพิธีกรรมจากม้งประเทศลาว เมื่อผ้าใยกัญชงกลายเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการ ผลผลิตจากประเทศลาวไม่เพียงพอ ม้งลาวจึงต้องไปรับซื้อผ้าจากม้งแถบจีนยูนนานแม่ค้าชาวม้งจึงต้องเดินทางไปแลกเปลี่ยนซื้อขายใยกัญชง จนกลายเป็นเครือข่ายเชื่อมการค้าขายระหว่างลาว จีน และไทย
ในอนาคต เส้นใยกัญชงจะเข้ามาทดแทนเส้นใยเคมีทั้งหมด เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับประเทศไทย โลกของเส้นใยไหมกัญชง (Hemp Silk) ซึ่งเป็นเส้นใยที่ดีที่สุดและกำลังมีอนาคตที่สดใสในอุตสาหกรรมผ้าทอกัญชง
กว่า 10 กลุ่มผลิตภัณฑ์รอกัญชงไทย
ผมขอสรุปโดยจำแนกว่ากัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนเช่นช่อดอก เมล็ด เปลือก ลำต้นและรากในการแปรรูปสร้างมูลค่าอย่างน้อยใน10กลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่
กลุ่มเวชภัณฑ์ยา,กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์,กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มและอาหารเสริม(Super Food),กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ,กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเสื้อผ้า,กลุ่มผลิตภัณฑ์นิรภัย,กลุ่มก่อสร้างและวัสดุภัณฑ์,กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์,กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและกลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี่เช่นซูเปอร์คาพาซิเตอร์(Super Capacitor) เป็นต้น จึงเป็นโอกาสทองของประเทศไทยและเกษตรกรของเราที่จะมีพืชเศรษฐกิจฐานรากใหม่เป็นพืชแห่งอนาคตเข่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายฟาร์มบิลล์ (Farm bill2018) ปลดล็อคกัญชง เมื่อปีที่ผ่านมาสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆกว่า22มลรัฐในขณะที่จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอีกหลายประเทศทั่วโลกก็ส่งเสริมสนับสนุนกัญชงจนกล่าวได้ว่าเป็นเฮมพ์อีโคโนมีพืชเศรษฐกิจแสนล้านของไทยและของโลกครับ