การค้า/อุตสาหกรรม

กสอ. ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการแล้วกว่า 55%

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินงานภายใต้นโยบาย “From Local to Global” by Marketing and Innovation หรือ “การตลาดนำการส่งเสริม” และ “นวัตกรรมนำการส่งเสริม” ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการผลิตสินค้ากับความต้องการของตลาด และแนวคิดด้านการบริหารจัดการทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ในการเพิ่มประสิทธิภาพเอสเอ็มอี ด้วยการนำผลงานวิจัย หรือ กระบวนการใหม่ ๆ มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เพิ่มมูลค่า เพิ่มประสิทธิภาพให้สินค้า และบริการด้วยงานวิจัย เทคโนโลยี และแพลทฟอร์มต่าง ๆ สำหรับนโยบาย “การตลาดนำการส่งเสริม” กสอ. ได้ผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ช่องทางการค้าทั้งแบบออฟไลน์ เช่น การนำผู้ประกอบการไปออกบูทตามงานนิทรรศการ และการจัดกิจกรรมออกร้านเพื่อทดสอบตลาด

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่การค้าแบบออนไลน์ อาทิ T-Goodtech , J-Goodtech และ อาลีบาบา โดยสนับสนุนการใช้บิ๊กดาต้า เป็นฐานข้อมูลเพื่อการจับคู่ธุรกิจ จัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างแบรนด์ธุรกิจ เช่น วิดีโอ อินฟลูเอนเซอร์การสอนถ่ายภาพเพื่ออีคอมเมิร์ซ พัฒนาอี-แคตตาล็อกบนเว็บไซต์ เพื่อโปรโมทสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น การให้ข้อมูลเรื่องเทรนด์ หรือกระแสความเปลี่ยนแปลงของตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งสร้างโค้ชทางด้านการตลาด ส่วนนโยบาย “นวัตกรรมนำการส่งเสริม” กสอ. ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำผลงานวิจัย และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้ในสถานประกอบการ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาปรับใช้ในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากยิ่งขึ้น โดย กสอ. ได้ขับเคลื่อนการนำผลการศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมขยายผลในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบ โดยได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแล้วกับหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)  และอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) และจัดให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้มีเทคโนโลยี เช่น สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัย ได้พบผู้ต้องการใช้เทคโนโลยี เช่น ผู้ประกอบการรายใหญ่ SMEs หรือ Startup ซึ่งภายใต้นโยบายดังกล่าว กสอ. ได้ดำเนินการผ่านโครงการ / กิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 800 ล้านบาท โดยดำเนินงานผ่านแนวทางด้านต่าง ๆ ได้แก่ การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม การเสริมสร้างความเข้มแข็งและผลิตภาพให้กับเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน การเพิ่มศักยภาพเพื่อเชื่อมโยงสู่ตลาดสากลอย่างยั่งยืน การบูรณาการความร่วมมือทางด้านต่างประเทศ และการให้บริการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ กสอ. ยังได้รับงบประมาณจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีโครงการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (กอ.นตผ.) จำนวน 180 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ผ่าน 5 โครงการ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาจำนวน 1,600 ราย 300 ผลิตภัณฑ์ ขณะนี้ดำเนินการพัฒนาแล้ว 130 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,470 ราย 300 ผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 1,500 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังได้รับงบประมาณในโครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จำนวน 300 ล้านบาท ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการผ่าน 20 โครงการ โดยมีเป้าหมายพัฒนา 12,400 ราย ขณะนี้ดำเนินการพัฒนาแล้ว 10,500 ราย 200 ผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 1,300 ล้านบาท

ขณะที่ในครึ่งปีหลังนี้ กสอ. ยังคงมุ่งมั่นและมุ่งเน้นที่จะพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ทั้งการอบรมบ่มเพาะ ให้องค์ความรู้และคำปรึกษาแนะนำ รวมถึงดำเนินการตามวาระเร่งด่วนในการพัฒนาเอสเอ็มอี เช่น การสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพ การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ผ่าน ITC 4.0 ครบวงจร การเพิ่มผลิตภาพด้วย Connected Industry การส่งเสริม Marketing 4.0 ทุนหมุนเวียน SME เพื่อคนตัวเล็ก รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำผลงานวิจัยมาต่อยอดด้วยนวัตกรรมเพื่อเชื่อมโยงสู่เชิงพาณิชย์และตลาดสากลในอนาคต โดยเฉพาะโครงการ Innospace ที่อยู่ระหว่างจัดทำโครงการ Startup Boot Camp เพื่ออบรม บ่มเพาะสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ กสอ. เตรียมจัดงาน Thailand Industry Expo 2019 ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อจัดแสดงผลงาน นวัตกรรม ที่เกิดจากความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรมกับภาคีเครือข่าย นอกจากจะมีนิทรรศการให้ความรู้ งานแสดงสินค้าและบริการแล้ว ยังจัดให้มีโซนอาเซียน +3 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและกลุ่มสมาชิก โดยจะมีการโชว์นวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดการลงทุน ต่อยอดการทำธุรกิจต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ กสอ. ยังคงเดินหน้าประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ โดยในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 นี้ กสอ. เตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมมือสนับสนุนเอสเอ็มอีในญี่ปุ่นและไทยในการขยายธุรกิจในระดับสากล ในขณะเดียว กสอ. ได้เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ซึ่งประกอบด้วย 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากภาคการศึกษา ไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีการลงนาม ในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 นี้

ทั้งนี้ กสอ. ยังคงดำเนินกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ภายใต้งบประมาณได้รับการจัดสรรทั้งหมด จำนวน 1,280 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายโดยรวมที่จะส่งเสริมและพัฒนา ผู้ประกอบการ สถานประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนกว่า 57,000 ราย พัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 2,500 ผลิตภัณฑ์ สร้างและเชื่อมโยงเครือข่าย 35 กลุ่ม โดยขณะนี้ได้ดำเนินการพัฒนาไปแล้วกว่า 30,000 ราย พัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 1,500 ผลิตภัณฑ์ สร้างและเชื่อมโยงเครือข่าย 20 กลุ่ม สามารถก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 5,500 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าไว้กว่า 13,000 ล้านบาท

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button