พลังงาน

“บ้านปู” ขยายพอร์ตพลังงานสะอาดเป้า 5,300 MWe ในปี 2568

“บ้านปู” เปิดผลประกอบการปี 2563 ย้ำความสำเร็จด้วยกำลังผลิตเพิ่ม 427 เมกะวัตต์ มุ่งขยายพอร์ตอย่างสมดุลเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เผยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากการจ่ายไฟต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าเอชพีซีและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ขณะที่แผนธุรกิจ 5 ปี เน้นเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า มุ่งลงทุนโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วและขยายพอร์ตพลังงานสะอาดรองรับเทรนด์แห่งโลกอนาคต กำลังผลิตปัจจุบันรวม 2,856 MWe พร้อมขยายสู่เป้า 5,300 MWe ในปี 2568 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐอเมริกา ด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน ด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงานผลการดำเนินงานในปี 2563 ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการดำเนินงานอย่างมีเสถียรภาพของโรงไฟฟ้าเอชพีซีและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ในจีน และผลจากการดำเนินมาตรการลดต้นทุนในทุกส่วนของการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทฯ พร้อมขยายกำลังผลิตจาก 2,856 เมกะวัตต์เทียบเท่าในปัจจุปัน สู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่าภายในปี 2568 ด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลักและแผนธุรกิจ 5 ปี

ในปี 2563 บ้านปู เพาเวอร์ประสบความสำเร็จในการขยายกำลังผลิตเพิ่มอีก 427 เมกะวัตต์ ซึ่งจะรับรู้รายได้เต็มปีในปีนี้ จากทั้งการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ ยามางาตะ (Yamagata) และยาบูกิ (Yabuki) การเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) ในเวียดนามที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และการก่อสร้างแล้วเสร็จของโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ โดยในปัจจุบัน SLG อยู่ในระหว่างการทดสอบความพร้อมเพื่อเตรียมการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ โดยหน่วยผลิตที่ 2 ได้เริ่มจ่ายไอน้ำให้ชุมชนเมืองฉางจื้อ (Changzhi) ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้าฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าในปี 2564 ตามแผน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคนเซนนุมะ (Kesennuma) และชิราคาวะ (Shirakawa) ในญี่ปุ่น กำลังผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์

เพื่อบรรลุเป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ในอีก 5 ปีข้างหน้า บ้านปู เพาเวอร์จะเดินหน้าด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1) ผนึกพลังร่วมภายในกลุ่มบ้านปู ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธุรกิจของบ้านปู (Banpu Ecosystem) ในการเข้าถึงเทคโนโลยี ฐานลูกค้าและคู่ค้า และแบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านพลังงานอย่างไร้รอยต่อ เช่น การต่อยอดธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในประเทศที่มีศักยภาพ 2) มุ่งแสวงหาโอกาสการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูง โดยเน้นการลงทุนในโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วที่สามารถสร้างกระแสเงินสดทันที กับการลงทุนในโครงการที่ใกล้จะแล้วเสร็จ (Brownfield) และ 3) ผลักดันการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดใหม่ๆ และนำนวัตกรรมมาต่อยอดพัฒนากระบวนการผลิตไฟฟ้าของบ้านปู เพาเวอร์ต่อไป

กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

นาย กล่าวว่า “5 ปีต่อจากนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบริหารต้นทุนของโรงไฟฟ้า เพื่อให้สามารถเดินเครื่องจ่ายไฟได้ตามเป้าหมาย พร้อมเดินตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เน้นการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่ใกล้จะแล้วเสร็จ (Brownfield) ที่มีการใช้เทคโนโลยี High Efficiency, Low Emissions (HELE) เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปในประเทศที่กลุ่มบ้านปูดำเนินธุรกิจอยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา โดยพิจารณาการลงทุนในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) รวมไปถึงการหาพันธมิตรร่วมลงทุนซึ่งสัดส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับขนาดของโรงไฟฟ้า โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในครึ่งแรกของปีนี้ นอกจากนี้ บ้านปู เพาเวอร์ ยังมุ่งสร้างการเติบโตในพอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานผ่านบ้านปู เน็กซ์  เตรียมเพิ่มกำลังผลิตจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 100 เมกะวัตต์ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายขยายกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนถึง 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 โดยมีการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของกิจการ (Due Diligence) อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งบ้านปู เพาเวอร์ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว รวมถึงมองหาโอกาสเพิ่มเติมในประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงและเป็นแหล่งดำเนินธุรกิจพลังงานของกลุ่มบ้านปู เช่น สหรัฐอเมริกาอีกด้วย ทั้งหมดนี้ เพื่อให้บ้านปู เพาเวอร์สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง”

“การที่หุ้น BPP ได้เข้าคำนวนในดัชนี MSCI GLOBAL SMALL CAP INDEX เมื่อปลายปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและการเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net Debt to Equity: Net D/E) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่ 0.07 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเติบโตและความพร้อมสำหรับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ในอนาคต บ้านปู เพาเวอร์จะยกระดับและพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วยจุดยืนการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน(We ARE Power for the Sustainable World) พร้อมผลักดันการเติบโตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานไฟฟ้าในบริบทที่หลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เพิ่มมูลค่าและสร้างผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างมั่นคง”  นายกิรณ กล่าวปิดท้าย

สำหรับปี 2563 บ้านปู เพาเวอร์มีผลกำไรสุทธิ จำนวน 3,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีก่อนหน้า และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 5,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จาก ปีก่อนหน้า นอกจากนี้ บริษัทฯ กำหนดการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2563 งวดวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.65 บาท คิดเป็นอัตราการจ่ายปันผลทั้งปีที่ร้อยละ 54 ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน สะท้อนความสามารถในการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button