ส่องความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ “แอสตร้าเซนเนก้า”
จากกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ากับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แอสตร้าเซนเนก้า ขอยืนยันถึงความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งสามารถอ้างอิงได้จากข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และขอยืนยันว่าแอสตร้าเซนเนก้าให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก โดยบริษัทฯ จะยังคงดำเนินการตรวจสอบและติดตามผลด้านความปลอดภัยของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
จากการศึกษาทบทวนอย่างละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ากับประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 17 ล้านรายในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ไม่พบว่ามีหลักฐานใดชี้ให้เห็นถึงอัตราความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) หรือ ภาวะเกล็ดเลือดตํ่า (Thrombocytopenia) ในกลุ่มอายุ เพศ รุ่นการผลิต หรือไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม
จากข้อมูลจนถึงวันที่ 8 มีนาคม บริษัทฯ ได้รับรายงานถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกในผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรทั้งหมด 15 รายงาน และรายงานที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดอีก 22 รายงาน เมื่อเทียบจำนวนประชากรแล้ว อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ได้รับรายงานหลังการฉีดวัคซีนนี้ ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าอัตราการพบภาวะดังกล่าวในกลุ่มประชากรทั่วไป และยังเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของผู้ผลิตรายอื่นๆที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยรายงานด้านความปลอดภัยประจำเดือนจะมีลงประกาศอยู่ในหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหภาพยุโรป (European Medicines Agency – EMA) ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการด้านความโปร่งใสเกี่ยวกับโควิด-19
นอกจากนี้ ยังพบว่า แม้ในการทดลองทางคลินิกจะพบอัตราการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันต่ำ แต่ตัวเลขการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันยิ่งต่ำกว่าในกลุ่มของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน อีกทั้งไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าผู้ที่เข้าร่วมการทดลองทั้ง 60,000 รายมีอาการเลือดออกเพิ่มขึ้น
แอน เทย์เลอร์ Chief Medical Officer ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า “ปัจจุบันมีประชากรในสหภาพยุโรปและ สหราชอาณาจักรที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 17 ล้านราย และมีรายงานจำนวนผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของการพบภาวะดังกล่าวในกลุ่มประชากรทั่วไป ซึ่งมีมากกว่าหลายร้อยเคส ภาวะโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ทำให้อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเคสได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เรายิ่งต้องเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้วัคซีน ยิ่งกว่าการเฝ้าระวังตามมาตรฐานความปลอดภัยของยาทั่วไป”
ในด้านคุณภาพนั้น ไม่มีเหตุการณ์ใดที่ได้รับการยืนยันว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ใช้ในสหภาพยุโรปและในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การทดลองเพิ่มเติมยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยแอสตร้าเซนเนก้าเองและองค์กรอิสระด้านสุขภาพของยุโรป แต่ก็ยังไม่พบว่ามีข้อบ่งชี้ของอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ระหว่างการผลิตวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า รวมถึงพันธมิตรและห้องทดลองอิสระอีกกว่า 20 แห่งได้ทำการทดลองด้านคุณภาพมาแล้วกว่า 60 ครั้ง โดยในการทดลองแต่ละครั้งจะต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาที่เคร่งครัดและเข้มงวด ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจะทำการส่งไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยในประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาก่อนที่วัคซีนแต่ละรุ่นการผลิตจะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศนั้นๆ
ความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเสมอ บริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบและติดตามผลด้านความปลอดภัยของวัคซีนอย่างใกล้ชิด ทว่าก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่ยืนยันได้ว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเกี่ยวข้องกับอาการดังกล่าว และเพื่อให้พวกเราสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการระบาดของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ไปได้ สิ่งสำคัญคือประชาชนควรต้องได้รับวัคซีนเมื่อสามารถฉีดได้
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือ เดิมเรียก AZD1222
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าถูกคิดค้นและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัท วัคซีเทค ซึ่งก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในกว่า 70 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีปทั่วโลกแล้ว และจากการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้จะช่วยเร่งให้มีการเข้าถึงวัคซีนใน 142 ประเทศผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์