“เอ็นไอเอ” ปั้น นิลมังกร ชูนวัตกรรมบ้านนอกพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายจำนวน 18 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์แบรนด์เคยู คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 14 มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จัดประกาศผลและมอบรางวัล “สุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยประจำปี 2564 รอบภูมิภาค (Thailand INNO BIZ Champion 2021 Regional Round) ภายใต้ “นิลมังกรแคมเปญ” ให้กับ 20 ธุรกิจนวัตกรรมจาก 4 ภูมิภาค
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “NIA มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วยการใช้นวัตกรรม ดังนั้นจึงได้ริเริ่มโครงการสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยระดับภูมิภาค ภายใต้ “นิลมังกรแคมเปญ” ขึ้น เพื่อสร้างตัวอย่างการทำธุรกิจนวัตกรรมในภูมิภาคให้คนในพื้นที่ได้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและได้เรียนรู้กระบวนการสร้างธุรกิจนวัตกรรม ผ่านการสื่อสารในรูปแบบของ Edutainment เพื่อให้เป็นที่น่าสนใจ เข้าถึง และเข้าใจกระบวนการสร้างธุรกิจนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีในพื้นที่ได้แสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมอย่างเต็มที่ โดยหวังว่าหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดในโครงการ ธุรกิจที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายซึ่งเป็นตัวแทนของพื้นที่แต่ละจังหวัด จะมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจ อย่างน้อย 3 เท่า หรือ ประมาณการมูลค่าเพิ่ม 360 ล้านบาท จาก 12 ทีมสุดท้าย และมีแบรนด์สินค้าและบริการนวัตกรรมเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังจะเป็นตัวแทนในการสร้างแบรนด์ให้กับพื้นที่และจังหวัดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น”
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า “โครงการสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย ที่จัดขึ้นในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหา บ่มเพาะธุรกิจ และสร้างแบรนด์ธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการระดับภูมิภาคในประเทศไทยให้สามารถเติบโตทางธุรกิจ และมีแบรนด์สินค้าหรือบริการนวัตกรรมเป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 300 ธุรกิจนวัตกรรมทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคเหนือ 69 ธุรกิจ จาก 10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 92 ธุรกิจ จาก 7 จังหวัด ภาคกลาง 79 ธุรกิจ จาก 12 จังหวัด และภาคใต้ 55 ธุรกิจ จาก 13 จังหวัด รวม 41 จังหวัดทั่วประเทศ และสามารถจัดกลุ่มธุรกิจได้จำนวน 10 ประเภทธุรกิจ/อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมบริการ และ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ เป็นต้น การวางแผนธุรกิจนวัตกรรม การสร้างแบรนด์สินค้าและบริการนวัตกรรม การสื่อสารและการเล่าเรื่องสินค้าและบริการนวัตกรรมให้น่าสนใจจากวิทยากรระดับประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมได้มีโอกาสเรียนรู้ นำเสนอ และเล่าเรื่องธุรกิจนวัตกรรมของตนเองต่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้คัดเลือกธุรกิจนวัตกรรมที่มีความพร้อมและมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้อย่างน้อย 300 เปอร์เซ็นต์ จาก 300 ธุรกิจ สู่ 5 ธุรกิจนวัตรของแต่ละภูมิภาค ซึ่งเปรียบเสมือน “ม้านิลมังกร” ของแต่ละภูมิภาค