การเกษตร

“เฉลิมชัย” ตั้ง “อลงกรณ์” ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง

“เฉลิมชัย” เร่งเครื่อง “ยุทธศาสตร์ที่ 5” รับมือโควิดระลอกใหม่ ตั้ง “อลงกรณ์” ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Urban Farming)ชู BCG โมเดลสร้างเศรษฐกิจฐานรากชุมชน77จังหวัด ผนึก 4 ภาคีขับเคลื่อนโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(Urban Farming) ตั้งเป้าสร้างความมั่นคงอาหารและเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายใต้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายใต้”5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตร” ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 5 อีกแนวรุกหนึ่งคือ”ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา” โดยออกคำสั่งแต่งตั้ง ”คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง” มีที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ เป็นประธาน”ทำหน้าที่พัฒนาการเกษตรในเมือง (Urban Farming) และเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อเพิ่มความมั่นคงอาหารในเมืองและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชนทั่วประเทศเป็นการรับมือผลกระทบจากวิกฤติโควิด19 ระลอกใหม่โดยมีวัตถุประสงค์ 5 ประการ ได้แก่

  1. พัฒนาเกษตรในเมือง 2.เพิ่มพื้นที่สีเขียว 3.เพิ่มคุณภาพอากาศ ลดกรีนเฮ้าส์แก๊ซและพีเอ็ม 2.5 4.ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ธรรมชาติในเมือง 5. สร้างเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มรายได้และอาชีพระดับชุมชนบนโมเดลBCG Economy (Bio-Circular-Green Economy)

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นับเป็นทิศทางใหม่ของการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของไทยและเป็นครั้งแรกของประเทศที่จะส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมในเมืองอย่างยั่งยืนในระดับนโยบายคู่ขนานไปกับการพัฒนาภาคเกษตรในชนบท อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนเพื่อรับมือวิกฤตโดวิด19และเตรียมความพร้อมของประเทศหลังยุคโควิด19 จัดได้ว่าเป็นการตอบโจทย์ทั้งหมดของทั้งปัญหาและโอกาส(Pain pointและGain point)สำหรับปัจจุบันและอนาคต

“การขับเคลื่อนโครงการนี้จะผนึกความร่วมมือบน5แกนหลักคือภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการภาคประชาสังคมและภาคเกษตรกรโดยมีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์AIC ทั้ง77จังหวัดเป็นกลไกขับเคลื่อนระดับภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับทุกภาคีภาคส่วน”

โครงการนี้พัฒนาต่อยอดมาจากโครงการกรีนซิตี้(Green City)ที่มุ่งลดปัญหาพีเอ็ม2.5ด้วยการปลูกต้นไม้1ล้านต้นและโครงการตู้เย็นข้างบ้านส่งเสริมการปลูกผักรับประทานเองที่ดร.เฉลิมชัยริเริ่มและดำเนินการประสบความสำเร็จในช่วง1ปีกว่าที่ผ่านมา โดยออกแบบใหม่ภายใต้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน(Sustainable Agriculture)ซึ่งประกอบด้วย 5 เสาหลักคือ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรผสมผสานและเกษตรธรรมชาติ

สำหรับ”5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2. ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3. ยุทธศาสตร์ “3’s” (Safety-Security-Sustainability- เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน) 4. ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล”เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” 5. ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button