การเกษตร

“ฟรุ้ทบอร์ด” ไฟเขียวแนวทางพัฒนาผลไม้ 6 ปีพร้อมแผนบริหารผลไม้ภาค “ตะวันออก-เหนือ”

“ฟรุ้ทบอร์ด” ไฟเขียวแนวทางพัฒนาผลไม้ปี 2565-2570 ฉบับใหม่ พร้อมไฟแผนบริหารผลไม้ภาคตะวันออกและภาคเหนือ “อลงกรณ์” เผยเตรียมปรับโครงสร้างบริหารจัดการใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำภายในเดือน มิ.ย. นี้ ภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” และโมเดล “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” เพื่อปฏิรูปไม้ผลทั้งระบบพร้อมดึงทูตเกษตรทูตพาณิชย์ทั่วโลกและศูนย์ AIC ร่วมขับเคลื่อนขยายตลาดผลไม้ไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้(9เม.ย.)หลังจากได้รับมอบหมายจากดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 3/2564 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565-2570 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ 13 กลยุทธ์ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการผลไม้ในการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าไม้ผล

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดไม้ผลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้มแข็งและความเสมอภาคให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรไม้ผล

ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการผลิตผลไม้ครบวงจร

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาเครือข่ายการส่งออกและระบบโลจิสติกส์

โดยที่ประชุมให้เปลี่ยนชื่อจากแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565-2570 เป็น “แนวทางการพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 – 2570”ตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและมีมติมอบหมายฝ่ายเลขาจัดประชุมโฟกัสกรุ๊ปพิจารณาการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบซึ่งใช้รูปแบบเดิมมากว่า10ปีโดยให้เสนอในการประชุมฟรุ้ทบอร์ดครั้งหน้าในเดือนมิถุนายนนี้ให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 – 2570ภายใต้”5ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม”ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board)และโมเดล”เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด”ซึ่งขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างนายจุลินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์กับดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ ฟรุ้ทบอร์ดยังมีมติเห็นชอบอีก 3 วาระสำคัญ 1.แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2564 ซึ่งจะมีการบริหารจัดการทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการทำตลาดล่วงหน้า(Pre-order) โครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพไม้ผลสู่มาตรฐานและยกระดับสู่การรับรอง GAP โครงการเกษตรอินทรีย์ การจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลคุณภาพ การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิต เป็นต้น

  1. แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) ปี 2564 ในการจัดการเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ทั้งก่อนการเก็บเกี่ยว และหลังการเก็บเกี่ยว 3.การเพิ่มครัวเรือนเป้าหมายโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 โดยขยายจำนวนครัวเรือนเป็น 202,173 ครัวเรือน ภายในวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 3,440 ล้านบาท

ในการประชุมครั้งนี้ นายฉันทานนท์ วรรณขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้เสนอรายงานการผลิตไม้ผล ปี 2564 (ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคใต้)ว่า ผลผลิตลำไยในภาคเหนือจะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 806,414 ตัน เป็น 979,371 ตัน ลิ้นจี่เพิ่มขึ้นจาก 29,425 ตัน เป็น 30,716 ตัน

ภาคตะวันออก ทุเรียนเพิ่มขึ้นจาก 550,035 ตันเป็น 575,542 ตัน มังคุดลดลง จาก 212,345 ตัน เป็น 106,796 ตัน เงาะลดลง จาก 210,637 ตัน เหลือ 197,708 ตัน ลองกองลดลงจาก 22,484 ตัน เหลือ 20,080 ตัน ภาคใต้ผลผลิตทุเรียน เพิ่มขึ้นจาก 518,896 ตันเป็น 609,813 ตัน มังคุดเพิ่มขึ้นจาก 122,616 ตัน เป็น 155,538 ตัน เงาะเพิ่มจาก 43,119 ตันเป็น 55,047 ตัน ลองกองเพิ่มจาก 34,396 ตันเป็น 48,417 ตัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการพัฒนา Ecosystem เพื่อจำหน่ายผลไม้ไทยครบวงจรบนแพลตฟอร์มออนไลน์งบประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ บริษัทไปรษณีย์ไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซ กระทรวงเกษตรฯ.เพื่อเพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์แบบสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-order) เป็นกลไกการขายเชิงรุกโดยให้ใช้งบประมาณบริหารจัดการการตลาดที่ฟรุ้ทบอร์ดอนุมัติโดยให้กรมการค้าภายในของกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบและยังมีมติให้นำเสนอแผนงานกิจกรรมและงบประมาณ 492 ล้านบาททั้งที่ดำเนินการแล้วและที่จะดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ในการประชุมคราวหน้าตามแนวทางใหม่ที่ให้ลดงานและงบประมาณประเภทงานอีเวนท์โดยให้เพิ่มงานการกระจายการจำหน่ายขายตรงและทำตลาดออนไลน์ออฟไลน์ทั้งในและต่างประเทศ

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมเดือน มิ.ย. นี้ จะเชิญทูตเกษตรและทูตพาณิชย์ทั่วโลกร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์เพื่อร่วมขับเคลื่อนการขยายตลาดผลไม้ไทยไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น รวมทั้งมอบฝ่ายเลขาประสานงานกับศูนย์AIC(ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม : Agritech and Innovation Center) ทั่วประเทศนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาผลไม้ไทยตั้งแต่ระบบการผลิต การแปรรูป โลจิสติกส์และการตลาดเพื่อเพิ่มประเทศและขีดความสามารถในการแข่งขันของผลไม้ไทยเช่นเทคโนโลยีจุลินทรีย์ขจัดการปนเปื้อนและช่วยขยายการคงสภาพความสดของผลไม้ได้เพิ่มขึ้น โดย AICจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นต้น ตลอดจนให้ประสานกับคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้เช่นโครงการมหานครผลไม้ในภาคตะวันออกภาคใต้และภาคเหนือต้องมีอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ในรูปแบบเขตชุมชนอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษตามศักยภาพของพื้นที่ และที่ประชุมยังให้ฝ่ายเลขาพิจารณาเพิ่มผลไม้ที่มีอนาคตเช่นมะม่วงฯลฯสู่การเป็นผลไม้เศรษฐกิจใหม่ๆ อีกด้วย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button