ล่ารายชื่อค้าน ‘ต่อสัมปทานและขึ้นราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว’ เข้า ครม.
เคลื่อนครั้งใหญ่ !!! สภาองค์กรผู้บริโภค-มูลนิธิผู้เพื่อผู้บริโภค เชิญชวนร่วมลงชื่อ คัดค้านการนำประเด็น ‘ต่อสัมปทานและขึ้นราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว’ เข้า ครม. !
.
สภาองค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อ คัดค้านการนำประเด็น ‘ต่อสัมปทานและขึ้นราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว’ เข้า ครม. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว และต้องการคัดค้านการนำประเด็นดังกล่าว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ ครม. รายชื่อทั้งหมดจะถูกรวบรวมและนำไปยื่นที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้าน การนำประเด็น ‘สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว’ เข้า ครม.
.
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า กทม. จะต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปอีก 30 ปี (สัญญาเดิมจะสิ้นสุดในปี 2572 หากต่อสัญญาก็แปลว่าบีทีเอสจะได้สัมปทานไปจนถึงปี 2602) โดยเก็บอัตราค่าโดยสาร 65 บาท โดยที่กทม.ไม่ได้ชี้แจงว่าราคา 65 บาทคิดจากอะไร และแม้ว่าผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค จะพยายามสอบถามถึงที่มาของตัวเลข 65 บาท แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบ
สภาองค์กรของผู้บริโภค คำนวณอัตราค่าโดยสารในอนาคตที่น่าจะเป็นไปได้และพบว่า หากเก็บอัตราค่าโดยสาร 25 บาท กทม. ยังมีกำไรถึง 23,200 ล้านบาท จึงยืนยันว่าราคา 25 บาท ทำได้จริง
.
การต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะสัญญาฉบับปัจจุบันจะหมดลงในปี 2572 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า ดังนั้น จึงควรพิจารณาปัญหาและผลกระทบอย่างถ้วนถี่ โดยเฉพาะผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการที่ต้องแบกรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นภาระผูกพันไปอีก 38 ปี ทั้งนี้ หาก กทม. ไม่สามารถบริหารจัดการให้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงได้ ก็ไม่ควรเร่งต่อสัญญา และรอให้ผู้ว่า กทม. คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
.
ราคาค่ารถไฟฟ้า 65 บาทที่ กทม. เสนอมา นอกจากเป็นราคาที่สูงเกินกว่า ‘มวลชน’ จะจ่ายได้ อีกทั้งก็ยังไม่สามารถชี้แจงฐานการคิดคำนวณของราคาดังกล่าวที่ชัดเจนว่ามาจากหลักการใด ซึ่งหากราคานี้ถูกพิจารณาผ่านและถูกนำมาใช้ จะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคจะต้องผูกมัดจ่ายค่าโดยสารในราคานี้ไปอีก 38 ปี จนกว่าจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2602 ในขณะที่ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมให้ใช้ราคาค่ารถไฟฟ้า 49.83 บาทเท่านั้น ซึ่งจะทำให้มีกำไรส่งรัฐในปี 2602 ถึง 380,200 ล้านบาท แต่กทม.ไม่เคยมีโมเดลการคิดค่าโดยสารมานำเสนอเลย
.
“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลส่งปัญหานี้กลับมายัง กทม.เพื่อให้ กทม.ทำกระบวนการการกำหนดราคาที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ประชาชนที่เป็นผู้รับภาระการจ่ายค่าโดยสารมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอทางเลือกว่าจากการคำนวณของสภาฯ พบว่า ค่ารถไฟฟ้าในราคา 25 บาท สามารถทำได้จริงแน่นอน ซึ่งในการคำนวณดังกล่าวได้อ้างอิงจากตัวเลขของกระทรวงคมนาคม โดยลดรายได้รวมลงครึ่งหนึ่งและคิดราคาค่าโดยสารเพียง 25 บาท สุดท้ายแล้ว กทม. ยังมีกำไรหรือมีเงินเหลือนำส่งรัฐได้ถึง 23,000.00 ล้านบาท” นางสาวสารี กล่าว
.
ทั้งนี้ สามารถร่วมลงชื่อ คัดค้านการนำประเด็น ‘ต่อสัมปทานและขึ้นราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว’ เข้า ครม. ได้ที่ลิงก์ https://forms.gle/fKXLvaFSjbU1tHaX9
ภายในวันที่ 19 เมษายน 2564 เวลา 08.00 น.