สนพ. มองราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนจากการระบาดของ “โควิด”
สนพ. มองราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในอินเดีย กระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันของตลาด คาดปี 64 อุปสงค์น้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน จากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด- 19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย ที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันของตลาด ในขณะที่ IEA คาดการณ์ว่าแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับเพิ่มเป็น 96.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2564 นี้ สอดคล้องกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกปีนี้จะเพิ่มขึ้นราว 6 ล้านบาร์เรล/วัน รวมถึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวจาก 5.1% เป็น 5.4% ในปีนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน เกี่ยวกับการทำข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับใหม่ และประเมินผลกระทบในตลาดน้ำมันจากการที่สหรัฐฯ ดำเนินการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นสมาชิกของโอเปกพลัส
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันของประเทศไทยแตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้าน หากพิจารณาจากโครงสร้างราคาน้ำมันอ้างอิงนั้น จะประกอบด้วย 1.ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (ร้อยละ 40 – 60) คือ ต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเซีย 2.ภาษีต่างๆ (ร้อยละ 30-40) ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น 3.กองทุนต่างๆ (ร้อยละ 5 – 20) เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน: เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน 4) ค่าการตลาด (ร้อยละ 10-18) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่ การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ช่วงวันที่ 12-18 เมษายน 2564 ราคาน้ำมันดิบราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ 62.88 และ 61.92 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.64 และ 2.59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เพิ่มการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเป็น 5.7 ล้านบาร์เรล/วัน จากคาดการณ์ก่อนหน้าไว้ที่ 5.5 ล้านบาร์เรล/วัน ใกล้เคียงกับกลุ่มโอเปกที่คาดว่าอุปสงค์น้ำมันดิบทั่วโลกจะสามารถเพิ่มขึ้น 6 ล้านบาร์เรล/วัน
ทางด้านราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 73.82,71.46 และ 72.59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.57, 1.55 และ 1.59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากอุปทานน้ำมันเบนซินในตะวันออกกลางมีปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังลดลง 3% อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
ส่วนราคาน้ำมันดีเซล (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 68.79 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดีเซลของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน
ขณะที่ค่าเงินบาทของไทย อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.02 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 31.5645 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.32 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.38 บาท/ลิตร) ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.28 บาท/ลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.52 บาท/ลิตร
ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 18 เม.ย. 64 กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 57,027 ล้านบาท หนี้สินกองทุนน้ำมันฯ 35,248 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ 21,779 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 33,637 ล้านบาท บัญชี LPG -11,858 ล้านบาท