การค้า/อุตสาหกรรม

DITP เพิ่มมาตรการเข้มจัดการสินค้าผลไม้ ป้องกันปนเปื้อนไวรัสโควิด

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เพิ่มมาตรการจัดการสินค้าผลไม้ พร้อมสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค โดยจัดตั้ง “โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Thailand Delivers with Safety) เพื่อเน้นย้ำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพและคุณภาพของผลไม้ไทยว่ามีความปลอดภัยทุกขั้นตอน พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในทางเดียวกัน และเพิ่มความปลอดภัยในการบริโภคสินค้ามากขึ้น

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของคนทั่วโลกเปลี่ยนไป โดยมีความระมัดระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยต่อสุขภาพกันมากขึ้น การเลือกซื้อสินค้าอาหาร ผักสด ผลไม้สด เพื่อการบริโภคจึงยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกผักผลไม้หลายชนิดไปทั่วโลกและนับเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้ความสำคัญในการส่งมอบความปลอดภัยถึงผู้บริโภค โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบผักและผลไม้ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพิ่มความปลอดภัยในการบริโภคสินค้ามากขึ้น ซึ่งมาตรการจัดการสินค้าผลไม้ประกอบไปด้วย 3 มาตรการหลักด้วยกัน ได้แก่

  1. ลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบและภาชนะบรรจุ ผู้ประกอบการ และ Supplier ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งผัก ผลไม้ ต้องควบคุมการเข้าออกสถานที่ เช่น การเซ็นชื่อ การคัดกรอง พร้อมจัดเก็บข้อมูลบุคลากรที่ปฏิบัติงานและที่มากับรถขนส่ง การทำความสะอาดรถขนส่งวัตถุดิบ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันการปนเปื้อนขณะปฏิบัติงาน
  2. การควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวด ผู้ประกอบการต้องมีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ตั้งแต่การรับวัตถุดิบผัก-ผลไม้ การแปรรูป การบรรจุ ตามมาตรฐาน GMP และ HACCP รวมทั้งสุขอนามัยส่วนบุคคลของพนักงานที่ปฏิบัติงาน ต้องสวมผ้ากันเปื้อน ถุงมือ และหน้ากาก การล้างมือในขณะปฏิบัติงาน รวมถึงมาตรการในการขนส่ง การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในตู้คอนเทนเนอร์
  3. การควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงาน สถานที่และอาคารผลิต (Location and Manufacturing Building) ให้มีการควบคุมทางเข้าและออก จัดสถานที่อาคารผลิต ห้องประชุม โรงอาหาร ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องสุขาให้เหมาะสม เพื่อลดความแออัด รวมถึงระบบระบายอากาศและเครื่องกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงภายในอาคารผลิต

ระบบสุขาภิบาล (Sanitation) จัดให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในการป้องกันระหว่างปฏิบัติงาน เช่น ที่ล้างมือ สบู่เหลว น้ำยาฆ่าเชื้อโรค กระดาษเช็ดมือชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง ถังขยะที่มีฝาปิดและไม่ใช้มือสัมผัส การแสดงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง

การทำความสะอาด (Cleaning) เคร่งครัดในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในอาคารผลิต เครื่องจักร พื้น ผนัง รวมทั้งพื้นที่ผิวจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์โดยสาร เก้าอี้ โต๊ะกินข้าว เป็นต้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามความถี่ที่เหมาะสม

บุคลากร (Personal hygiene of workers) ให้มีมาตรการคัดกรองพนักงานก่อนเข้าสถานที่ทำงาน โดยจัดเก็บข้อมูลเพื่อติดตามย้อนกลับ ขณะทำงานต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา สวมใส่ถุงมือ รองเท้า ล้างมือ เว้นระยะห่าง และป้องกันการปนเปื้อนระหว่างปฏิบัติงาน

การอบรม (Training) ให้พนักงานมีความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แก่ การคัดกรองวัดไข้ การสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่าง การทำความสะอาด และการลดความแออัด เพื่อการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม

“กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดโครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีและสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก รวมถึงเน้นย้ำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพและคุณภาพของสินค้าเกษตร อาหารทั่วไป และสินค้าอาหารฮาลาลของไทยว่ามีความปลอดภัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง มีระบบป้องกันตนเองของพนักงานในโรงงาน การบรรจุ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค” นายสมเด็จกล่าว

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button