กรอ. – กฟผ. ลุยต้นแบบ ‘โรงงานรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่’
กรอ. – กฟผ. เล็งอนาคตซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ล้น เร่งศึกษาแนวทางกำจัดซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อความยั่งยืน พร้อมสร้างต้นแบบโรงงานรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่แบบครบวงจร ป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่า กฟผ. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศึกษาแนวทางการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ และพัฒนาต้นแบบโรงงานรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ของประเทศไทย” ร่วมกับ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อร่วมกันศึกษาข้อมูลด้านเทคนิคการรีไซเคิลและเทคโนโลยีในการนำกลับโลหะมีค่าจากซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ ศึกษาและจัดทำหลักเกณฑ์การปฏิบัติและข้อเสนอแนะ การจัดการมลพิษจากกระบวนการผลิตสำหรับโรงงานฯ แนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาต้นแบบโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ของประเทศไทย
ดร.จิราพร ศิริคำ กล่าวต่อไปว่า กรอ. และ กฟผ. มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อส่งเสริมการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่อย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นซากที่เกิดจากการใช้พลังงาน โดยก่อนหน้านี้ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษาแนวทางบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ที่ได้ครบกำหนดอายุของบันทึกความร่วมมือ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทยยังคงมีความท้าทายอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเก็บรวบรวม ปริมาณและความแตกต่างชนิดของซากที่จะส่งผลต่อเทคนิคในการรีไซเคิลและความคุ้มค่าการลงทุน ตลอดจนเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทำให้การพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นต่าง ๆ จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และจะต้องมีการติดตามเทคโนโลยีในการรีไซเคิลที่ทันสมัยอยู่เสมอ จึงร่วม ลงนามความร่วมมือฉบับต่อเนื่องเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ทั้งนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีการรีไซเคิลหรือแนวทาง การจัดการกับแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่เริ่มความชัดเจนมากขึ้นและมีการดำเนินงานเชิงพาณิชย์แล้วในต่างประเทศ
สำหรับการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานมีวัตถุประสงค์ในการร่วมกันศึกษาแนวทางการรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ โดยการศึกษาในครั้งนี้จะมีการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี พื้นที่ตั้งโรงงานที่มีศักยภาพ ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับ Ecosystem ของประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบโรงงานรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ของประเทศในลำดับต่อไป