โรงพยาบาล

มจธ. คิดค้นนวัตกรรมรักษาโรคถุงลมโป่งพอง

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกเป็นอันดับที่ 4 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสู่อันดับที่ 3 ในปี 2020 มักจะเกิดกับผู้สูบบุหรี่จัด โดยส่วนใหญ่โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะพบในช่วงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ปัจจุบันยังไม่มมีวิธีการรักษาให้หายเป็นปกติ เพียงแต่บรรเทาอาการของโรคได้เท่านั้น เช่น การใช้ยาพ่นขยายหลอดลม การผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรของปอด เป็นต้น ซึ่งการบรรเทาอาการด้วยยาพ่นขยายหลอดลมนั้นช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น แต่หากใช้งานต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดอาการสั่นได้ ส่วนการผ่าตัดลดปริมาตรของปอดนั้นสามารถทำให้ผู้ป่วยหายใจได้ดีขึ้น แต่วิธีดังกล่าวเป็นวิธีทำให้เกิดแผลที่ใหญ่และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ ตามมา

ทีมนักวิจัยสมาร์ทแล็บ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนุบรี (มจธ.) ประกอบด้วย นายศุภกิจ อมรฐิติพงศ์ นายถกล กิจรัตนเจริญ นายชวิน เกยานนท์ และนางสาวปภัสณา วงษ์แพทย์ โดยมี รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้คิดค้นนวัตกรรม การใช้อุปกรณ์วาล์วทางเดียวจากโลหะผสมจำรูปเพื่อใช้รักษาโรคถุงลมโป่งพอง เป็นการออกแบบและผลิตอุปกรณ์รักษาโรคถุงลมโป่งพองชนิดขดลวดคํ้ายันประกบวาล์วทางเดียวจากวัสดุฉลาดประเภทโลหะผสมจำรูป นิกเกิล-ไทเทเนียม เพื่อช่วยในการรักษาโรคถุงลมโป่งพอง

นายศุภกิจ อมรฐิติพงศ์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า อุปกรณ์ที่ใช้ทำจากวัสดุฉลาด มีความยืดหยุ่น สามารถคืนรูปได้ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด แต่สามารถลดปริมาตรอากาศในปอดได้ โดยทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บน้อยที่สุด โดยนำอุปกรณ์ผ่านเข้าทางสายสวนขนาดเท่าหลอดน้ำดื่ม ผ่านทางลำคอ เมื่อสอดอุปกรณ์ไปจนถึงบริเวณตรวจพบการคั่งค้างของอากาศ ก็จะปล่อยอุปกรณ์ไว้ที่บริเวณนั้น อุปกรณ์ที่นำเข้าไปจะไม่ปล่อยอากาศเข้าไปแต่จะนำพาอากาศที่คั่งค้างอยู่ภายในปอดออกมา โดยทำงานร่วมกับคุณหมอที่ปฏิบัติงานจริง ทำการทดลองในห้องแล็บและทดลองกับอาจารย์ใหญ่ ทำให้ผลงานที่ได้มีมาตรฐานและใช้งานได้จริง

รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. หัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด กล่าวว่า การใช้อุปกรณ์วาล์วทางเดียวจากโลหะผสมจำรูปเพื่อใช้รักษาโรคถุงลมโป่งพอง (Endobronchial Valve, EBV) ที่เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก ประกอบด้วย โครงคํ้ายันนิกเกิล-ไทเทเนียมที่ห่อหุ้มด้วยซิลิโคนและวาล์วทางเดียว ทางเลือกในการรักษาวิธีใหม่ โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วยราคาแพง เป็นการช่วยลดมูลค่าการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศ จุดเด่นคืออุปกรณ์ EBV ไม่ก่อให้เกิดบาดแผลและความเจ็บปวดในการรักษา เพราะอุปกรณ์สามารถนำผ่านเข้าทางสายสวนผ่านทางลำคอได้โดยตรง ดังนั้นหากประเทศไทยสามารถผลิต EBV ได้จะช่วยให้คนไทยจำนวนมากเข้าถึงการรักษาได้ และนำเข้าสู่การขึ้นทะเบียนนวัตกรรมเพื่อต่อยอดให้เกิดการแข่งขันในเชิงพาณิชย์ต่อไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานด้านการออกแบบและผลิตอุปกรณ์รักษาโรคถุงลมโป่งพอง เพื่อใช้ในการพัฒนาต่อไปในอนาคต

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button