ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ 3 พันธมิตร “กบข.-กยศ.-กอช.” ปฏิบัติการรวมพลัง สร้างคนไทยใส่ใจเรื่องการเงิน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ 3 พันธมิตร “กบข.-กยศ.-กอช.” ปฏิบัติการรวมพลัง สร้างคนไทยใส่ใจเรื่องการเงิน
- กบข. ใช้ 3 กลยุทธ์ สื่อสารให้ความรู้ด้านการเงินแก่สมาชิกทั่วประเทศ
- กอช. เพิ่มภูมิคุ้มกันด้านการเงิน สร้างวินัยการออมให้ประชาชน
- กยศ. จับมือ ตลท. ทำระบบ SET e-Learning สร้างความรู้ทางการเงินให้นักเรียน นักศึกษา
- ตลท. แนะวิธีสร้างสุขทางการเงิน “หมดหนี้มีออม” “ลงทุนเพิ่มค่า” “วางแผนก่อนแก่”
สถานการณ์การเงินของคนไทยอยู่ในภาวะเปราะบางเพราะขาดความรู้ด้านการเงินที่ถูกต้อง ทำให้คนไทยมีหนี้สูง ขาดเงินออม จึงเป็นที่มาที่ทำให้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดโครงการส่งเสริมความรู้และสร้างทักษะทางการเงินสำหรับประชาชนทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในโครงการที่จัดขึ้นในปีนี้คือ Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย โดยได้รับความร่วมมือจาก กองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ (กบข.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งได้มาร่วมกันส่งเสริมความรู้ทางการเงินเพื่อให้คนไทยก้าวพ้นสถานการณ์เปราะบางทางการเงินที่เป็นอยู่
ในพิธีเปิดโครงการ นอกจากจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานแล้ว ผู้บริหารทั้ง 4 หน่วยงานยังได้มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “ปฏิบัติการรวมพลัง สร้างคนไทยใส่ใจเรื่องการเงิน” ซึ่งมีทั้งความรู้ ข้อคิด และข้อแนะนำ ที่ผู้ฟังสามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้ตัวเองได้เป็นอย่างดี
เริ่มต้นการเสวนาด้วยข้อมูลที่น่าสนใจจาก ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กบข. มีภารกิจในการบริหารเงินออมของสมาชิกกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ โดย กบข. มีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจการลงทุน อีกทั้งยังกระจายการลงทุนไปในหลากหลายสินทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงสำหรับชีวิตวัยเกษียณ ขณะเดียวกัน กบข. ก็ยังส่งเสริมให้สมาชิกมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการออมและการลงทุนที่ถูกต้องเหมาะสม ผ่านกลยุทธ์การสื่อสาร 3 ด้าน คือ 1) การให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทและบริการของ กบข. ที่ช่วยให้สมาชิกทราบถึงประโยชน์จากการออมกับ กบข. และเลือกใช้บริการของ กบข. เพื่อบรรลุเป้าหมายเงินออมยามเกษียณ 2) การให้ความรู้ทางการเงินและการลงทุน เพื่อให้สมาชิกเข้าใจสินทรัพย์ลงทุน ความเสี่ยง ผลตอบแทน และสามารถเลือกแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง 3) การให้ความรู้เรื่องการบริหารเงินเพื่อวัยเกษียณ
ทั้งนี้ กบข. ได้มีการสื่อสารไปยังสมาชิกหลากหลายรูปแบบ เพื่อจัดอบรมทางออนไลน์และออฟไลน์ และยังมีช่องทาง GPF Community ทั้งแอปพลิเคชัน เฟสบุ๊ก และไลน์ เพื่อใช้ในการสื่อสารไปยังสมาชิก นอกจากนี้ ยังจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเงินการลงทุน 3 แผนด้วยกัน คือ 1) แผนงาน Digital Twins แบบจำลองการบริหารเงินเสมือนจริงให้สมาชิกได้ทดลองเปรียบเทียบวิถีการออมที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้สมาชิกสามารถตัดสินใจใช้บริการ กบข. ได้ตรงกับเป้าหมายของตนเอง 2) แผนงาน GPF Research House สร้างกระบวนการวิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อเข้าใจสมาชิก และนำผลวิเคราะห์มาจัดทำโครงการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิก 3) แผนความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับองค์กรสากลชั้นนำ OECD/INFE เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จากเครือข่ายด้านการเงินระดับนานาชาติ และนำกรอบการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นสากลมาปรับใช้
“สำหรับการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินที่ร่วมกับ ตลท. นั้น ที่ผ่านมา กบข. และ ตลท. ได้ร่วมกันเผยแพร่ความรู้ด้านการวางแผนการเงินให้สมาชิก กบข. อย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาระบบ e-Learning เพื่อให้สมาชิกเข้าถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสม รวมทั้งจัดทำคู่มือส่งเสริมความรู้ทางการเงินฉบับสมาชิก กบข. และมีการบรรยายให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญจาก ตลท. สำหรับความร่วมมือในอนาคตนั้น กบข. จะประยุกต์องค์ความรู้และสื่อการเรียนรู้ของ ตลท. ให้เข้ากับบริบทของสมาชิก กบข. มากขึ้น เพื่อให้สมาชิกบริหารเงินออมอย่างเข้าใจ และมีเงินออมยามเกษียณที่เพียงพอ” ดร.ศรีกัญญา กล่าว
อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมการออมให้กับคนไทยคือ กองทุนการออมแห่งชาติ โดย นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กอช. เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มุ่งเสริมสร้างการออมภาคสมัครใจ เพื่อให้มีระบบบำนาญใช้ในยามเกษียณแก่ผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 21 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ที่มีสิทธิสมัครต้องมีอายุ 15-60 ปี เริ่มต้นออมขั้นต่ำเพียง 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี รับเงินสมทบจากรัฐ 50-100% ตามช่วงอายุของสมาชิก สูงสุด 1,200 บาทต่อปี (การรับเงินสมทบเป็นไปตามเงื่อนไข พ.ร.บ. กอช.) และเงินออมสะสมสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนเงินออม ซึ่งที่ผ่านมา กอช. ได้รณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ส่งเสริมวินัยการออม และสร้างพื้นฐานเรื่องการให้เงินทำงาน โดยเน้นการลงพื้นที่ให้ความรู้ ความเข้าใจอย่างเข้มข้นครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม อาทิ การอบรมบุคลากรจากสถานศึกษา การสร้างตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ โดย ตลท. ช่วยส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ผ่านการจัดอบรม Train the Trainers รวมถึงร่วมกันพัฒนาเนื้อหา และสื่อการเรียนรู้ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของ กอช. ซึ่งปัจจุบัน กอช. มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนกว่า 2.4 ล้านคนแล้ว
“ความร่วมมือกับ ตลท. ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือต่อเนื่อง จากที่ทำร่วมกันมา 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านวินัยการออม การลงทุน รวมถึงการวางแผนการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนเกษียณอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ ตลท. ยังช่วยส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้ประชาชน ภาคีเครือข่าย พนักงาน สมาชิก กอช. และกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นสมาชิก กอช. ผ่านองค์ความรู้และสื่อการเรียนรู้ของ ตลท. อาทิ คลิปวิดีโอ สื่อสร้างการเรียนรู้
e-Learning รวมทั้งการพัฒนาเนื้อหาและสื่อการเรียนรู้เพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กอช. เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และการเผยแพร่สื่อออนไลน์สำหรับแรงงานนอกระบบ นักเรียน นักศึกษา โดยมุ่งหวังให้ กอช. เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวินัยการออมเพื่ออนาคตสำหรับเยาวชนไทย” นางสาวจารุลักษณ์ กล่าว
ทางด้าน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า กยศ. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา ซึ่งปัจจุบัน กยศ. ไม่ได้ใช้งบประมาณของประเทศมาให้กู้ยืม เนื่องจากมีนักเรียน นักศึกษาทยอยชำระเงินคืนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ กยศ. มีเงินหมุนเวียนเพื่อนำมาปล่อยกู้ให้กับรุ่นต่อไป โดยในปีนี้ จะสามารถปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา แบบไม่มีโควต้า โดยมีวงเงินปล่อยกู้กว่า 38,000 ล้านบาท และปีนี้จะเป็นปีแรกที่เปิดให้กู้ยืมในระดับปริญญาโทด้วย ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักเรียน นักศึกษา สามารถทยอยชำระเงินกู้ได้คือการสร้างวินัยทางการเงินให้ผู้กู้อย่างต่อเนื่อง โดย กยศ. ได้ร่วมมือกับ ตลท. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ในการนำองค์ความรู้และสื่อการเรียนรู้ ได้แก่ e-Learning ที่ ตลท. จัดทำมาให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืม บุคลากรในสถานศึกษา และผู้ที่สนใจได้เรียนรู้การวางแผนการเงิน การลงทุน และการเป็นผู้ประกอบการ ผ่านระบบ SET e-Learning
“SET e-Learning มีหลักสูตรให้เลือกเรียนกว่า 15 หลักสูตร เมื่อนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมเรียนจบแต่ละหลักสูตร สามารถนำไปสะสมจำนวนชั่วโมงจิตสาธารณะให้ครบตามหลักเกณฑ์ที่ กยศ. กำหนด ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมที่เข้าเรียนหลักสูตร SET e-Learning กว่า 562,000 ราย ซึ่ง กยศ. คาดว่าหากผู้กู้มีความรู้ทางการเงินจะสามารถบริหารจัดการรายได้ ทรัพย์สิน และหนี้สินได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถชำระคืนเงินให้ กยศ. ตามกำหนดเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป” นายชัยณรงค์ กล่าว
ปิดท้ายการเสวนาครั้งนี้กับ ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยขาดภูมิคุ้มกันทางการเงินเนื่องจากไม่มีเงินออมฉุกเฉิน และยังออมไม่พอ โดยพบว่าครัวเรือนไทยไม่มีเงินออม 27% และคนไทยกว่า 80% มีเงินออมไม่พอใช้จ่ายใน 6 เดือน ปัญหาที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การขาดความรู้ด้านการวางแผนการเงิน โดยทักษะการเงินของไทยในเรื่องนี้มีเพียง 61% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ 30 ประเทศที่สำรวจ และเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิดมาซ้ำเติม ทำให้หนี้ครัวเรือนในปี 2563 สูงถึง 13.77 ล้านล้านบาท คนเป็นหนี้อายุน้อยลง นั่นคือ 60% ของคนไทยอายุ 29-30 ปีเป็นหนี้แล้ว และ 1 ใน 5 ของกลุ่มอายุ 29 ปีเป็นหนี้เสีย นอกจากนี้ ปัญหาทางการเงินยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อสังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2566 ซึ่งจากการสำรวจพบว่าปัจจุบันผู้สูงอายุมีแหล่งรายได้หลักมาจาก 3 แหล่ง คือ บุตร การทำงาน และเบี้ยยังชีพ มีผู้สูงอายุที่มีเงินออมเป็นรายได้หลักเพียง 2.3% เท่านั้น
“วิธีขจัดปัญหาและสร้างความสุขทางการเงินอย่างยั่งยืนต้องใช้หลักคิดพื้นฐาน 3 ข้อ คือ หมดหนี้มีออม ลงทุนเพิ่มค่า และ วางแผนก่อนแก่ ซึ่งการที่จะหมดหนี้แล้วมีเงินออมได้นั้นจะต้องวางแผนการใช้จ่าย บริหารหนี้สิน วางแผนออมเงิน ส่วนการลงทุนนั้นต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนลงทุน วางแผนภาษี สำหรับการวางแผนก่อนแก่ ควรมุ่งเรื่องการวางแผนประกัน วางแผนมรดก วางแผนเกษียณ ซึ่งโครงการ Happy Money ได้เร่งให้ความรู้ในเรื่องนี้กับกลุ่มเป้าหมายผ่านหน่วยงานรัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง การร่วมมือกับ กบข. กอช. และ กยศ. ในครั้งนี้จะทำให้ความรู้ด้านการเงินเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกระดับมากขึ้น ทั้งที่เป็นแรงงานในระบบกว่า 14 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน นักเรียนนักศึกษากว่า 1.7 ล้านคน โดยกระบวนการในการแก้ปัญหาทางการเงิน และสร้างความสุขทางการเงินให้แก่คนไทย โดยใช้เครื่องมือ 3 ด้าน คือ 1) ให้ความรู้การวางแผนการเงินและการลงทุน ผ่านบทความ คลิปความรู้ Infographics e-Learning e-Book Happy Money App 2) พัฒนาเทคนิคการเป็นพี่เลี้ยงการเงิน 3) การให้คำปรึกษาและติดตามผล ผลที่ได้รับจะทำให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติและปรับพฤติกรรมทางการเงิน โดยให้มีค่าใช้จ่ายลดลง หนี้สินลดลง เงินออมเพิ่มขึ้น” ดร.กฤษฎา กล่าว
ผู้สนใจฟังการเสวนาในหัวข้อ “ปฏิบัติการรวมพลัง สร้างคนไทยใส่ใจเรื่องการเงิน” สามารถชมย้อนหลัง คลิกhttps://youtu.be/4iJ2PHMr9Kg
จึงขอเชิญชวนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันเผยแพร่ความรู้ด้านวางแผนการเงิน (Financial Literacy) ไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแกนกลางในการพัฒนาความรู้เพื่อพร้อมให้ขยายผลและส่งต่อ ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ มีองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้พัฒนาขึ้น มีสื่อการเรียนรู้กว่า1,000 ชิ้น รวมถึงการสร้างพี่เลี้ยงการเงิน ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อการส่งต่อความรู้ มุ่งหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่สุด สำหรับองค์กรที่สนใจจะเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเงินให้กับพนักงานหรือคนทั่วไป สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.set.or.th/happymoneyหรือ SET Contact Center 0-2009-9999