SPCG ไตรมาส 1 กำไร 782 ล้านบาท ปรับแผนขายบุกตลาดสู้วิกฤต “โควิด”
SPCG เผยไตรมาส 1 ทำกำไรได้ต่อเนื่อง 782.3 ล้านบาท แต่ลดลง 55.5 ล้านบาท เทียบงวดเดียวกันปีที่แล้ว เพราะรายได้ลดลง 19% รับผลกระทบวิกฤตโควิด 19 ทำให้ลูกค้าชะลอการติดตั้งโซลาร์รูฟ “ดร.วันดี” มั่นใจผลประกอบการไตรมาส 2 ยังคงทำกำไรได้ต่อเนื่อง พร้อมปรับแผนการตลาดสู้ เชื่อทั้งปี 64 รายได้โตไม่ต่ำกว่า 10%
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” เปิดเผยผลประกอบการ ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2564 มีรายได้รวมจากการขายและให้บริการราว 1,172.7 ล้านบาท ลดลง 19% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อน (ที่ทำได้ 1,454.7 ล้านบาท)
โดยไตรมาสนี้ทำกำไรสุทธิได้ 782.3 ล้านบาท ลดลง 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน (คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.69 บาท) ที่มีกำไรอยู่ 837.8 ล้านบาท (คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.77 บาท) หรือกำไรสุทธิลดลงราว 55.5 ล้านบาทสาเหตุรายได้ปรับตัวลงเป็นผลจากเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จำนวน 8 บาทต่อหน่วยของ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (สกลนคร 1) จำกัด ที่มีกำลังผลิตราว 7.46 เมกะวัตต์ (ซึ่งเป็น 1 ใน 36 โซลาร์ฟาร์มของบริษัท) ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งๆ ที่ โครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้ 105.1 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 3.2 ล้านหน่วย จากปี 2563 ที่ทำได้ (101.9 ล้านหน่วย) หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 อย่างไรก็ตามแม้ค่าแอดเดอร์จะหมดไป แต่บริษัทยังคงได้รับรายได้จากการขายไฟในอัตราค่าไฟฐาน (Base Tariff) ตามปกติ
นอกจากนั้นบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ “SPR” (บริษัทในเครือ SPCG) ผู้นำด้านการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) มีรายได้ที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน เหตุจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้าชะลอการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof)
ดังนั้น บริษัทจึงปรับแผนงานขายและกลยุทธการตลาดใหม่ ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ โดยเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยชูนโยบายช่วยลูกค้าลดต้นทุนดำเนินงานด้วยการประหยัดค่าไฟ ทำกำไรได้เพิ่มขึ้น และได้รับงานบริการหลังการขายที่ดี ในขณะเดียวกัน SPCG ยังคงเดินหน้านโยบายปรับลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต้นทุนด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้นทุน O&M (Operating & Maintenance) สำหรับธุรกิจโซลาร์ฟาร์มทั้งในปัจจุบันและอนาคตลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างสภาพคล่องและรักษากำไรของบริษัท โดยในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตราว 10% หรือประมาณ 5,500 ล้านบาท
นอกจากนั้นบริษัทยังเดินหน้าทุกโครงการอย่างต่อเนื่องทั้งโซลาร์ฟาร์ม และ โซลาร์รูฟ ซึ่งในไตรมาส 2 นี้ ลูกค้าให้ความสนใจพร้อมติดตั้งผลิตภัณฑ์ของบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด (SPR)
สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่น มีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะโครงการ Tottori Yonago Mega Solar Power Plant กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ได้ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2018 และบริษัทได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลไปแล้ว 3 งวด หรือ 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ได้รับประมาณ 16.4 ล้านบาท และมั่นใจว่าปีนี้ยังคงได้รับผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องต่อไป
ด้านโครงการโซลาร์ฟาร์ม Ukujima Mega Solar Project ขนาดกำลังการผลิตรวม 480 เมกะวัตต์ SPCG ถือหุ้น 17.92% เป็นโครงการขนาดใหญ่และเป็นโครงการระหว่างประเทศ ยังเดินหน้างานก่อสร้างตามปกติ แม้จะล่าช้าไปบ้างในช่วงวิกฤตโควิด แต่ปัจจุบันทางญี่ปุ่นได้เร่งเดินหน้างานก่อสร้าง และน่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ COD ได้ราวไตรมาส 3 ปี 2023 ตามแผนงานเดิม ส่วนเงินทุนงวดที่ 3 ที่จากตามกำหนดการเดิมจะต้องใส่เข้าไปราวสิ้นปีที่แล้ว บริษัทยังยืนยันที่จะใส่เงินทุนงวด 3 ตามสัญญาความก้าวหน้าโครงการ
อย่างไรก็ตาม บมจ.เอสพีซีจี ในฐานะผู้บุกเบิกและผู้นำธุรกิจด้านพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ บริษัทยังคงมุ่งมั่นรักษาสิ่งแวดล้อม และเดินหน้าช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกประมาณ 200,000 ตัน CO2 ต่อปี จากการดำเนินงานโซลาร์ฟาร์ม 36 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์