ชวน “เที่ยวทิพย์สิงคโปร์” ไปกับศิลปะบนกำแพง เรียนรู้เรื่องราวผ่านผลงานของ ยิป ยิว ชง ศิลปินผู้สร้างสีสันให้สิงคโปร์
“ประเทศสิงคโปร์” เมืองแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่กลับเต็มไปด้วยงานศิลปะนานาชนิดจากหลากหลายวัฒนธรรมนอกจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว สิงคโปร์เลือกใช้ “ศิลปะ” เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะรัฐบาลเชื่อว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องมาพร้อมกับชีวิตที่เติมเต็มด้วยศิลปะ ในช่วง 20 ปีมานี้ หากใครได้ไปสิงคโปร์ จะสามารถพบเห็นศิลปะแขนงต่างๆ รายล้อมไปทั่วเกาะสิงคโปร์ ตั้งแต่ ภาพวาดประติมากรรม จิตรกรรม รวมถึงสถาปัตยกรรมตามอาคาร ตึกรามบ้านช่องที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้ากับศิลปะสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
งานศิลปะบนกำแพงหรือ Mural Art เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่ช่วยสร้างสีสันและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของสิงคโปร์ และหนึ่งในศิลปินที่สร้างงานมากที่สุดก็คือนาย ยิป ยิว ชง (Yip Yew Chong)อดีตนักบัญชีชาวสิงคโปร์วัย 53 ปีที่ผันตัวเองมาเป็นศิลปินเอกลักษณ์ของเขาคือการเล่าเรื่องราวของชาวสิงคโปร์จากความทรงจำในวัยเด็ก ผลงานของเขาจึงล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวสิงคโปร์สมัยก่อนได้เป็นอย่างดี
ในสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนเช่นนี้ การไปเที่ยวต่างประเทศอาจเป็นความหวังอันแสนไกล ที่พอจะเป็นไปได้ก็คือการเที่ยวทิพย์ การท่องเที่ยวสิงคโปร์จึงอยากชวนมาเที่ยวทิพย์พร้อมๆ กับเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตชาวสิงคโปร์ผ่านเรื่องราวที่เล่าขานบนกำแพงให้หัวใจอบอุ่นพร้อมรำลึกวันวานไปกับภาพวาดบนกำแพงฝีมือของยิป ยิว ชง ศิลปินมากฝีมือผู้นี้
เริ่มต้นที่ ย่านไชน่าทาวน์ (Chinatown) ย่านที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมจีนที่ชวนหลงใหลทั้งวัดวาอารามที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ร้านขายยาแผนโบราณที่น่าศึกษา และร้านค้าแนวไลฟ์สไตล์ท็อปลิสต์ อีกทั้งยังโดดเด่นในเรื่องของรสชาติอาหารสไตล์จีน ที่รวมกับรสชาติอีกหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน และหนึ่งในวัดที่รู้จักกันดีก็คือวัดเทียนฮกเก๋งวัดจีนที่เก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์ที่กำแพงด้านหลังมีศิลปะบนกำแพงในชื่อ‘สมาคมฮกเกี้ยน’ (HokkienHuayKuan)ความยาวกว่า 44 เมตร บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนฮกเกี้ยน ตั้งแต่การเดินทางจากประเทศจีนมาถึงสิงคโปร์และตั้งรกรากก่อสร้างบ้านแบบจีนและใช้ชีวิตอยู่ที่ย่านไชน่าทาวน์แห่งนี้ จนถึงสุดกำแพงที่เป็นภาพวาดบรรยากาศของท่าเรือโบ๊ทคีย์(Boat Quay)ในยุคที่ยังเต็มไปด้วยเรือเล็กบรรทุกสินค้าก่อนจะมาเป็นย่านที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้าในปัจจุบัน และอีกหนึ่งผลงานได้แก่ ‘เทศกาลไหว้พระจันทร์’ (Mid-Autumn Festival) ภาพวาดที่บอกเล่าประเพณีการไหว้พระจันทร์ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการประดับโคมไฟที่ทำด้วยกระดาษเป็นรูปสัตว์หรือตัวการ์ตูน การทานอาหารมงคลอย่างขนมไหว้พระจันทร์ ส้มโอและชา
ใกล้กันเป็นย่านเตียง บาห์รู (Tiong Bahru)หนึ่งในย่านที่เก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์ และยังเป็นหนึ่งในย่านการเคหะย่านแรกๆในสิงคโปร์อีกด้วยจึงเป็นย่านที่คุณจะได้เห็นคาเฟ่ดีไซน์เก๋ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของบ้านเรือนแบบดั้งเดิม สไตล์โคโลเนียลสีขาวที่ดูมินิมอลและคลาสสิก สามารถเข้ามาสัมผัสบรรยากาศไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยที่ยังคงกลิ่นอายความเก่าได้เหมือนเดิมผลงานที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ‘บ้าน’(Home) ภาพวาดที่วาดมาจากบ้านของตัวยิป ยิว ชงเอง เพราะความเป็นย่านเก่าแก่ บ้านหลายๆ หลังในย่านนี้จึงยังคงการตกแต่งแบบย้อนยุคไว้ครบถ้วน และถูกนักท่องเที่ยวผู้สนใจวัฒนธรรมแอบมองเข้าไปบ่อยๆเขาจึงยกเอาบรรยากาศนั้นมาไว้ให้เห็นชัดๆ บนกำแพงแทน และหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าบนหนังสือพิมพ์นั้นมีภาพของท่านนายกสิงคโปร์ ลีเซียนลุง ที่กำลังโปรโมทแคมเปญSpeak Mandarin Campaign ในปี 1979 แคมเปญที่ชวนชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนมาใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษากลางแทนภาษาถิ่น เพื่อทำให้การสื่อสารภายในประเทศเป็นได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
และอีกหนึ่งภาพก็คือ‘มุมฟังเสียงนก’ (Bird Singing Corner) ภาพที่เล่าอีกหนึ่งกิจกรรมฮิตของย่านเตียง บาห์รู (Tiong Bahru)ในอดีตที่เหล่าคุณลุง สมาคมคนรักนกเคยมารวมตัวกันพูดคุยเรื่องนกพร้อมๆ กับจิบกาแฟ น่าเสียดายที่ในปัจจุบันกิจกรรมนี้ได้หายไปเรียบร้อย เหลือไว้เพียงตะขอเกี่ยวกรงนกเป็นหลักฐานว่าเคยเกิดขึ้นจริง
และสุดท้ายคือย่านกัมปงเกอลัม(Kampong Gelam)อีกหนึ่งย่านที่ฮิปที่สุดในสิงคโปร์ ย่านที่ผสมผสานความเป็น Pop Culture สมัยใหม่เข้ากับชุมชนยุคเก่าได้อย่างลงตัว เต็มไปด้วยสตรีทอาร์ทตึกหลากหลายสีสัน มัสยิดสีทองอร่าม จะ Shopping งานคราฟต์หรือลิ้มลองอาหารและสัมผัสวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทั้งจีน มาเลเซีย และตะวันออกกลางก็มีให้อย่างครบถ้วนหนึ่งผลงานที่บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของย่านนี้ก็คือ ภาพชุด “กัมปงเกอลัม”ในอดีตเมือปลายปี1970 สิงคโปร์เคยเป็นท่าเรือสำคัญที่เป็นจุดแวะพักของเหล่าผู้แสดงบุญชาวมาเลย์และอาหรับที่ออกเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์และบางส่วนก็อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ ผ้าบาติกจึงเป็นตัวแทนของชาวมาเลย์ ส่วนพรมเป็นตัวแทนของชาวอาหรับ
และอีกภาพที่โดดเด่นไม่แพ้กันก็คือ “เรื่องราวของกาแฟ” (Coffee Story) ที่เล่าเรื่องราววัฒนธรรมการชงกาแฟของ 3 วัฒนธรรม ทั้งของชาวอินเดีย-มุสลิม ชาวจีนแบบดั้งเดิม และแบบตะวันตก บ่งบอกถึงความเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมของสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี ซ้ายสุดเป็นเรื่องราวของร้านกาแฟแบบดั้งเดิมของชาวอินเดีย-มุสลิมกับเมนูkopi tarikซึ่งtarik แปลว่าดึงในภาษามาเลย์สาเหตุที่ใช้คำว่าดึง ก็เพราะกรรมวิธีการทำคือการใช้กาแฟสองถ้วย ดึงกาแฟขึ้นสูงและเทลงมาในอีกถ้วยหนึ่งซ้ำไปมา 2 ครั้งนั่นเองถัดมาเป็นเรื่องราวของกาแฟโบราณแบบจีนที่ชงด้วยถุงชงกาแฟ คล้ายๆ กับกาแฟโบราณของไทย ที่เพิ่มเติมคือเมนู Kaya Toast และไข่ลวก อาหารเช้าประจำชาติสิงคโปร์นั่นเอง ปิดท้ายด้วยวัฒนธรรมการชงกาแฟแบบยุโรปที่นำเมล็ดกาแฟมาคั่วและบด จากนั้นนำไปผ่านเครื่องชงกาแฟเพื่อให้ได้กาแฟออกมา จากนั้นก็ตกแต่งด้วยการฟองนมเป็นลาเต้ อาร์ท (Latte Art) ออกมาเป็นกาแฟหน้าตาสวยงามที่เสิร์ฟในคาเฟ่สมัยใหม่ในปัจจุบัน
นี่เป็นเพียงผลงานส่วนหนึ่งของศิลปินมากฝีมือ ยิป ยิว ชง ยังมีผลงานศิลปะบนกำแพงของศิลปินอื่นๆ อีกมากมายในหลายๆ ย่าน กระจายตัวอยู่ทั่วสิงคโปร์มากกว่า 100 ชิ้น หากสนใจออกเที่ยวทิพย์ตามล่าหา mural art ชิ้นอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถดูรายละเอียดได้ที่https://www.visitsingapore.com/th_th/editorials/art-hunting-on-singapore-streets/