การเงิน

หุ้นทั่วโลกปรับฐาน ! จังหวะเก็บของนักลงทุนระยะกลางถึงยาว

ซีไอเอส มองตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานลง เป็นปรากฏการณ์ขายหุ้นในเดือนพฤษภาคม ชี้เป็นโอกาสเพิ่มพอร์ต คาดว่าเม็ดเงินลงทุนน่าจะไหลกลับมาลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีของจีน ที่ก่อนหน้านั้นปรับตัวลดลงต่ำกว่าหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ส่วนตลาดคริปโทยังคงผันผวน ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ยังรอความหวังจากวัคซีนโควิด-19 ว่าจะถูกกระจายได้มากขึ้น สะท้อนราคาหุ้นกลับมาในเชิงบวก

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า การที่แนวโน้มเงินเฟ้อเริ่มกลับมาจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หรือ Bond Yield ปรับตัวขึ้น ทำให้เกิดการไหลกลับของกระแสเงินลงทุนไปยังตลาดพันธบัตรรัฐบาล และเกิดการเทขายหุ้นออกมา ขณะที่ P/E ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าเขตที่เรียกได้ว่าแพง ประกอบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่เกิดการปรับฐานหนัก ๆ มานานแล้ว จึงเป็นไปได้ว่าช่วงระยะสั้นอาจจะมีการปรับตัวลง โดยเฉพาะดัชนี NASDAQ ที่ผลงานอ่อนกว่าดัชนี S&P500

อย่างไรก็ตาม หากมองระยะยาวเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังฟื้นตัว และหุ้น ยังคงเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่น่าสนใจ ซึ่งในระยะสั้น หากเกิดปรากฏการณ์นักลงทุนเทขายหุ้นทำกำไรในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือ Sell In May ขึ้น ถือเป็นโอกาสในการเพิ่มพอร์ตลงทุนในหุ้น โดยตลาดหุ้นที่น่าสนใจ คือ ตลาดหุ้นจีน ที่มีระดับ P/E เพียงแค่ 14 เท่า นับว่ายังไม่แพงมาก และเป็นระดับที่สมเหตุสมผล เพราะคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้ น่าจะโตได้ถึง 6-8% และภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ยังจะโตได้เฉลี่ยปีละ 5% ส่วนประเด็นที่รัฐบาลจีนเข้ามาควบคุมบริษัทเทคโนโลยีของจีน รวมถึงการที่สหรัฐฯ ถอดบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นเป็นเพียงแค่ปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น

“มองว่าการปรับฐานลงของตลาดหุ้นจากความกังวลเรื่องของเงินเฟ้อ และปัจจัย Sell In May น่าจะเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่เม็ดเงินน่าจะไหลออกจากหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ มายังหุ้นเทคโนโลยีของจีน แต่ในระยะยาวหุ้นเทคโนโลยี กลุ่ม Ark Invest ยังคงมีความน่าสนใจ เพียงแต่ระยะสั้นเม็ดเงินแค่เปลี่ยนทางชั่วคราว ส่วนหุ้นไทยการปรับตัวลงมา ยังถือว่าไม่หนักมาก โดยตลาดหุ้นไทยนั้นให้น้ำหนักกับการกระจายวัคซีนโควิด-19 ช่วงครึ่งปีหลัง และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากการคลายล็อกดาวน์มากกว่า”

อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่ต้องจับตาหลังจากนี้ คือ สหรัฐฯ จะมีท่าทีอย่างไรต่อมาตราการผ่อนคลายทางการเงินจากเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวเร็ว และการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในสหรัฐฯ เดินหน้าได้รวดเร็ว ประกอบกับ เจเน็ต เยเลน รัฐมนตรีคลัง ผู้ที่ตัดสินใจลดวงเงินมาตรการคิวอี และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังวิกฤตซับไพร์มในปี 2009 สมัยที่เป็นผู้ว่าการเฟดในยุคนั้น เริ่มมีความคิดเห็นว่าจะต้องมีการปรับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายให้กลับมาในสภาพเดิม ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดในช่วงที่เหลือหลังจากนี้

ปรากฏการณ์ Sell In May จากผลศึกษาข้อมูลดัชนีสําคัญทั่วโลก 12 ปีย้อนหลัง นับตั้งแต่ปี 2009 ตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญแรงขายในเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มราคาลดลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่เป็นลบเฉลี่ยอยู่ที่ 0.23% และปรับตัวลงนานกว่า 8 ปี ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย 0.21%

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิด Sell In May ในตลาดหุ้นไทย คือ โดยปกติช่วงไตรมาสสองและสามของไทย จะเป็นช่วง Low Season ทางเศรษฐกิจ ประกอบกับค่าเงินบาทมักจะอ่อนค่าเสมอในเดือนพฤษภาคม เพราะเป็นฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย และมีการนำเงินออกไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ปรากฏการณ์ Sell In May มีโอกาสเกิดกับตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก โดยตลาดหุ้นไทยมีโอกาสความน่าจะเป็นสูงถึง 60% ประเทศอื่น 50% และตลาดหุ้นสหรัฐฯ 33% ฯลฯ

ส่วนตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ยังคงผันผวน นักลงทุนต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับพอร์ตได้ทันท่วงที เช่น การที่ราคาบิทคอยน์ (Bitcoin) เคลื่อนไหวตามข่าวประเด็นที่ อีลอน มัสก์ ซีอีโอ Tesla ออกมาทวีตว่า Tesla จะระงับการจ่ายบิทคอยน์ในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยให้เหตุผลการใช้พลังงานของ Bitcoin สูงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดแรงเทขายในเหรียญบิทคอยน์ทันที

นายณพวีร์ กล่าวปิดท้ายในส่วนของตลาดหุ้นไทยว่า ในเดือนพฤษภาคม ที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมา ถือเป็นโอกาสให้นักลงทุนเลือกหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดี ทยอยสะสมรอตลาดหุ้นกลับตัวมาเป็นบวกอีกครั้ง เพราะในระยะกลาง-ยาว ยังเชื่อมั่นว่า ภาครัฐน่าจะพยายามผลักดันเรื่องวัคซีนโควิด-19 ให้ถูกกระจายได้มากขึ้น และครึ่งปีหลัง คาดว่าสถานการณ์การส่งออกของไทย น่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมองว่าตลาดหุ้นไทย มีโอกาสจะปรับตัวเชิงบวกล่วงหน้าได้

“ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนปรับลดลง กดดันต่อแรงซื้อหุ้น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้สาเหตุที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ซึ่งกระทบไปยังตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทย คือความกังวลในเรื่องของเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องโดยดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 4.2% เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ทำให้เกิดความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (FED) อาจจะพิจารณากลับมาใช้มาตราการผ่อนปรนทางการเงิน อย่างเช่น การทำคิวอี (QE) รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่เร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ในไตรมาส 2/64 จึงต้องจับตาเงินลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button