การค้า/อุตสาหกรรม

DITP คาดแนวโน้มส่งออกอาหารไทยในปีนี้ยังขยายตัวได้ดี เดินหน้ามาตรการป้องกันการปนเปื้อนโควิด

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) คาดการณ์ทิศทางการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากหลายปัจจัยสนับสนุน คุมเข้มมาตรการในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก ภาคเอกชนกลุ่มผู้ส่งออกอาหารไทย พร้อมให้ความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด พร้อมเดินหน้า“โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Thailand Delivers with Safety)  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 มีมูลค่า 164,146 ล้านบาท โดย 5 อันดับสินค้าเกษตรอาหารส่งออก ได้แก่ 1.มันสำปะหลัง 2.ข้าว 3.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 4.ไก่แปรรูป 5.ไก่สดเย็น แช่แข็ง  และ 5 อันดับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรส่งออกสำคัญ ได้แก่ 1.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 2.ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ 3.อาหารสัตว์เลี้ยง 4.เครื่องดื่ม 5.ผลไม้กระป๋องและแปรรูป

สำหรับทิศทางการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน และราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและสับปะรด รวมไปถึงการกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย

“สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังคงระบาดอย่างหนักในระลอกใหม่ ไม่เพียงกระทบต่อชีวิตของประชาชนเท่านั้น แต่ยังกระทบไปในทุกภาคส่วน ด้านการส่งออกสินค้าอาหาร จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้บูรณาการกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง มุ่งยกระดับกระบวนการผลิต โดยออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน”  นายสมเด็จ กล่าว

สำหรับมาตรการดังกล่าว มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการ และ Supplier ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งวัตถุดิบจากเรือ หรือท่าเรือ ให้มีการคุมเข้มในความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ดังนี้

1) ลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบและภาชนะบรรจุ ผู้ประกอบการ และ Supplier ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งผัก ผลไม้ ต้องควบคุมการเข้าออกสถานที่ เช่น การเซ็นชื่อ การคัดกรอง พร้อมจัดเก็บข้อมูลบุคลากรที่ปฏิบัติงานและที่มากับรถขนส่ง การทำความสะอาดรถขนส่งวัตถุดิบ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันการปนเปื้อนขณะปฏิบัติงาน

2) การควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวด ผู้ประกอบการต้องมีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ตั้งแต่การรับวัตถุดิบผัก-ผลไม้ การแปรรูป การบรรจุ ตามมาตรฐาน GMP และ HACCP รวมทั้งสุขอนามัยส่วนบุคคลของพนักงานที่ปฏิบัติงาน ต้องสวมผ้ากันเปื้อน ถุงมือ และหน้ากาก การล้างมือในขณะปฏิบัติงาน รวมถึงมาตรการในการขนส่ง การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในตู้คอนเทนเนอร์

 

3) การควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงาน โดย สถานที่และอาคารผลิต ให้มีการควบคุมทางเข้าและออก จัดสถานที่อาคารผลิต ห้องประชุม โรงอาหาร ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องสุขาให้เหมาะสม เพื่อลดความแออัด รวมถึงระบบระบายอากาศและเครื่องกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงภายในอาคารผลิต ระบบสุขาภิบาล จัดให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในการป้องกันระหว่างปฏิบัติงาน เช่น ที่ล้างมือ สบู่เหลว น้ำยาฆ่าเชื้อโรค กระดาษเช็ดมือชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง ถังขยะที่มีฝาปิดและไม่ใช้มือสัมผัส การแสดงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง การทำความสะอาด เคร่งครัดในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในอาคารผลิต เครื่องจักร พื้น ผนัง รวมทั้งพื้นที่ผิวจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์โดยสาร เก้าอี้ โต๊ะกินข้าว เป็นต้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามความถี่ที่เหมาะสม บุคลากรให้มีมาตรการคัดกรองพนักงานก่อนเข้าสถานที่ทำงาน โดยจัดเก็บข้อมูลเพื่อติดตามย้อนกลับ ขณะทำงานต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา สวมใส่ถุงมือ รองเท้า ล้างมือ เว้นระยะห่าง และป้องกันการปนเปื้อนระหว่างปฏิบัติงาน การอบรม ให้พนักงานมีความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

พร้อมกันนี้ ยังเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าผ่าน “โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Thailand Delivers with Safety) โดยคุมเข้มมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก และเป็นการตอกย้ำว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตอาหาร และมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง มีระบบป้องกันตนเองของพนักงานในโรงงาน การบรรจุ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งภาคเอกชนในกลุ่มผู้ส่งออกอาหารไทย พร้อมให้ความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ดี สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2563 มีมูลค่า 980,703 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.1 หรือในรูปดอลลาร์คิดเป็นมูลค่าส่งออก 31,284 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.1 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.32 จากร้อยละ 2.49 ในปี 2562 และอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก จากเดิมอยู่อันดับที่ 11 ในปีก่อน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button