คมนาคม

ครม.ไฟเขียวสร้างรถไฟสายมหาสารคาม-นครพนม

ครม.ไฟเขียวสร้างรถไฟสาย “บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม” วงเงิน 6.6. หมื่นล้าน ระยะทาง 355 กิโลเมตร เปิดประกวดราคาด้วยวิธี e-bidding กำหนดแล้วเสร็จปี 2568 เผยเส้นทางตัดผ่านพื้นที่ 70 ตำบล 16 อำเภอ 6 จังหวัด มีสถานีรถไฟ 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองตู้สินค้า 3 แห่ง และมีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก จังหวัดขอนแก่น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ครม. ได้ประชุมเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ในวงเงิน 66,848.33 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบประมาณ 2561 – 2568) ด้วยวิธีประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลักษณะของโครงการจะดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 2 ทาง เป็นคันทางระดับดิน และบางส่วนเป็นทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 16 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม โดยมีการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ จำนวน 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองตู้สินค้า 3 แห่ง มีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก (จังหวัดขอนแก่น)

สำหรับซ่อมวาระเบาและซ่อมวาระปานกลาง ส่วนวาระหนักจะส่งไปซ่อมที่โรงรถจักรอุตรดิตถ์ มีการออกแบบถนนยกข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน 81 แห่ง มีถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) จำนวน 245 แห่ง พร้อมการก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ความกว้างของราง ขนาด 1 เมตร สามารถเชื่อมต่อกับระบบรางเดิมของ รฟท. ที่มีอยู่ รองรับการเดินรถขนาดความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทางรถไฟเป็นแบบใช้หินโรยทางทั้งทางระดับพื้นดิน สะพาน และโครงสร้างยกระดับที่เป็นคอนกรีต คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนมกราคม 2564 แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2567 สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในเดือนมกราคม 2568


นอกจากนี้ ครม. รับทราบผลการตรวจสอบยืนยันความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนของไทย (Preliminary Debriefing Report) ของคณะผู้ตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ซึ่งคณะผู้ตรวจสอบฯ ได้แสดงความชื่นชมกับความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องได้อย่างเป็นรูปธรรม จริงจัง และเป็นระบบภายในระยะเวลาไม่นาน ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินที่สูงถึงร้อยละ 65 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนด้านนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม รวมทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการเร่งรัดปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการเดินอากาศที่สอดคล้องกับกฎกติกาของ ICAO ความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และความร่วมมือของผู้ประกอบการภาคเอกชนในการร่วมกันแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ จนสำเร็จ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button