กฟผ. ลงนาม MOU ปตท. ลุยโปรเจกต์ LNG Receiving Terminal หนองแฟบ แล้วเสร็จปี 65
กฟผ. ลงนาม MOU ปตท. ลงทุนโครงการ LNG Receiving Terminal หนองแฟบ จ.ระยอง ขนาด 7.5 MTPA มูลค่า 2 หมื่นล้านล้านบาท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และเสริมความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในประเทศ และเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ในอนาคต กำหนดแล้วเสร็จปี 2565
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) (แห่งที่ 2) ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และเสริมความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในประเทศ โดยที่ปรึกษา กฟผ. จะเร่งดำเนินการประเมินมูลค่าโครงการดังกล่าวเพื่อกำหนดเงินการลงทุนในส่วนของ กฟผ. ให้มีความที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2564 ก่อนเสนอขออนุมัติจาก ครม. ต่อไป โดยคาดว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565
การลงนามครั้งนี้สืบเนื่องมาจากมติในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2018 (Rev.1) ระบบท่อส่งก๊าซฯ และ LNG Terminal โดยให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) เป็นการร่วมลงทุนกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 50 : 50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี (MTPA) คาดการณ์เงินลงทุนเบื้องต้น ประมาณ 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการ LNG Receiving Terminal หนองแฟบ เป็นคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซ LNG แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นต่อจาก LNG Receiving Terminal มาบตาพุด จ.ระยอง ของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) โดยมีมูลค่าการลงทุน 38,500 ล้านบาท เริ่มก่อตั้งในปี 2562 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565 เพื่อรองรับการนำเข้า LNG 7.5 ล้านตันต่อปี โดย กฟผ. จะเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 50 : 50 และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมกัน ทำให้ขยายขีดความสามารถในการนำเข้า LNG ของประเทศไทย จากเดิม 11.5 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 19 ล้านตันต่อปี นับเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล