“เฉลิมชัย” เร่งปั้น “โลว์คอสต์แอร์คาร์โก้สินค้าเกษตร” ผนึกภาครัฐ-เอกชน” ช่วยเกษตรกรขยายตลาดส่งออกทั่วโลก
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางอากาศ(Air cargo system)วันนี้ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่ประธานการประชุมและได้สั่งการให้เร่งดำเนินการพัฒนาระบบการขนส่งทางอากาศ( Air Cargo System)สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างและระบบ3ส่วนสำคัญได้แก่ คาร์โก้เทอร์มินัล (Cargo Terminal) ,สายการบินคาร์โก้(Air Cargo Fleet)และศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร-อาหารแบบครบวงจรในคาร์โก้เทอร์มินัลโดยร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ดำเนินการที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองและท่าอากาศยานภูมิภาคที่มีความพร้อมเช่นเชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ ภูเก็ต เป็นต้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเป็นการบริหารโอกาสของประเทศไทยภายใต้วิกฤติโควิด19 ทั้งนี้สถาบันอาหารประเมินว่าในปี 2564 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะมีมูลค่า 1.08-1.10 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2-12.2% เทียบกับปีที่ผ่านแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โควิด 19 สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทย
สำหรับศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร-อาหาร ณ คาร์โกเทอร์มินัลซึ่งทำหน้าที่ให้บริการตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรและอาหารทั้งสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ตามมาตรฐานสากลจะต้องบริการด่วน(Express Service)แบบวันสต็อปเซอร์วิสใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายของภาคเอกชนทั้งนำเข้าและส่งออกเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นฮับการผลิตและขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารของอาเซียน
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าได้หารือเบื้องต้นกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับโครงการแอร์คาร์โก้สินค้าเกษตร และมอบที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรเร่งประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนต่อไปโดยเร็ว
“นอกจากนี้ผู้ประกอบการบินได้นำเสนอสถานการณ์ของธุรกิจการบินและแนวทางการพัฒนาสายการบินขนส่งสินค้าทางอากาศในลักษณะโลคอสต์แอร์คาร์โก้โดยมุ่งเป้าหมายตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ตะวันออกกลาง ยุโรปและอเมริกาด้วยอัตราค่าบริการถูกกว่าอัตราค่าขนส่งในปัจจุบันและเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐมนตรีเกษตรฯ.โดยพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารต้องการความสะดวกรวดเร็วส่งถึงลูกค้าปลายทางทั่วโลกด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับสากลซึ่งการขนส่งทางอากาศคือคำตอบ”