กฟผ. เพิ่มยอดผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR เสริมแกร่งทีมแพทย์ทั่วประเทศสู้โควิด
กฟผ. เสริมศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ เร่งส่งมอบหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ให้ได้ตามเป้าหมายแรก 500 ใบแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ทีมช่างอาสา กฟผ. ตั้งเป้าผลิตเพิ่มอีก 500 ใบ หวังทีมแพทย์ปลอดภัยและมีความสะดวกมากขึ้นขณะปฏิบัติหน้าที่ในช่วงวิกฤตโควิด-19
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกระแสข่าวที่บุคลากรทางการแพทย์เป็นลมหมดสติในชุด PPE ขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้นเพื่อให้ทีมแพทย์ด่านหน้าปลอดภัยและมีความสะดวกมากขึ้น กฟผ. จึงใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญของทีมช่างจิตอาสาในการผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR (Powered Air Purifying Respirator) พร้อมทั้งเร่งส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ดร.จิราพร ศิริคำ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กฟผ. ผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ได้ประมาณ 300 ใบ ควบคู่การส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลแล้วกว่า 35 แห่งทั่วประเทศ โดยจะเร่งผลิตและส่งมอบให้ได้ตามเป้า 500 ใบ ภายในเดือนกรกฎาคมศกนี้ พร้อมทั้งเตรียมจัดหาทุนเพิ่มสำหรับการผลิตหมวกฯ ให้ได้อีก 500 ใบ เพื่อเสริมศักยภาพให้ทีมแพทย์ใช้เป็นเกราะป้องกันภัยโควิดแทนชุด PPE ทั้งนี้ กฟผ. ดำเนินการผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ภายในฐานการผลิตและทดสอบคุณภาพหลักที่ กฟผ. สำนักงานหนองจอก ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง ผลิต ทดสอบ และบริหารอะไหล่โรงไฟฟ้าแบบครบวงจร เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในระดับสากล และกระจายการผลิตไปยังเขตเขื่อน โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีความสามารถภายใต้การควบคุมมาตรฐานกลางเดียวกัน โดยผลิตในห้อง Clean Room เพื่อควบคุมความสะอาดตลอดขั้นตอนการผลิต มีการทดสอบให้ได้มาตรฐาน พร้อมบรรจุลงกล่องแยกชิ้นก่อนส่งมอบ จึงมั่นใจได้ว่าหมวกทุกใบสะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อน 100% สำหรับตัวหมวกมีน้ำหนักเบา ใช้งานได้คล่องตัว รวมทั้งประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ที่ใช้งานต่อเนื่องสูงสุดได้ถึง 8 ชั่วโมง
นางภานุ ศรีเสาวลักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลบ้านตาก กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้หมวกป้องกันเชื้อ PAPR มีความจำเป็นมากสำหรับใส่ป้องกันตัวขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย โดยหลังจากทดลองใช้งานพบว่า สามารถสื่อสารระหว่างทีมแพทย์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะหมวกมีพัดลมมอเตอร์ที่สามารถปรับระดับเสียงและควบคุมความเร็วลมได้ด้วยตัวเอง อากาศที่เข้าไปไหลเวียนได้ดี ทำให้รู้สึกไม่ร้อนและไม่อึดอัด
ด้าน พันโทหญิง รอนีย์ พรหมลา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวชิรปราการ กล่าวว่า หมวกป้องกันเชื้อ PAPR ช่วยให้ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกขึ้น รวมถึงเพิ่มความมั่นใจขณะปฏิบัติงานอีกด้วย
สำหรับหมวกป้องกันเชื้อ PAPR เกิดจากน้ำใจของคนไทยร่วมกันกับ กฟผ. ระดมทุนผ่านแพลตฟอร์ม ‘เทใจ’ จนได้เงินทุนครบสำหรับการผลิตหมวกตามเป้าหมายภายในเวลาอันรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าแม้ในช่วงวิกฤตที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด คนไทย และ กฟผ. พร้อมช่วยกันประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน โดย กฟผ. ขอเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่พร้อมรวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต และเพื่อให้คนไทยทุกคน กลับมาหายใจได้เต็มปอดอีกครั้ง