UAC ผ่านฉลุยโรงไฟฟ้าชุมชน “ขอนแก่น-มหาสารคาม” พร้อมเป็นที่ปรึกษาโรงไฟฟ้าชุมชนพืชพลังงานกับทุกราย
บมจ. ยูเอซี โกลบอล (UAC) ปลื้มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 2 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดขอนแก่น – มหาสารคาม ผ่านคุณสมบัติทางเทคนิค ด้าน CEO “ชัชพล ประสพโชค” ระบุเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในโครงการที่ไม่ผ่าน มั่นใจด้วยศักยภาพ และความพร้อมทั้งนวัตกรรม-เสถียรภาพทางการเงิน-การจัดหาแหล่งเชื้อเพลิง ช่วยผลักดันธุรกิจเติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต และพร้อมเป็นที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพพืชพลังงานให้กับพันธมิตรทุกราย
นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านพิจารณาคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ บริษัทย่อยของบริษัทฯ ทั้ง 2 บริษัทฯผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าทางเทคนิค จากการผลิตโรงไฟฟ้าประเภทชีวภาพ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย บริษัทยูเอซี แอนด์ ทีพีที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ตั้ง ตำบล นาฝาย อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ครอป พาวเวอร์ 4 จำกัด ที่ตั้ง ตำบลหนองโก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมราว 6 เมกะวัตต์
“ UAC ยื่นประมูลไปทั้งสิ้น 6 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 18 เมกะวัตต์ เฉลี่ยโครงการละ 3 เมกะวัตต์ และผ่านคุณสมบัติ 2 โครงการ ส่วนอีก 4 โครงการที่ไม่ผ่านเกณฑ์ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุ และจะยื่นอุทธรณ์ในลำดับต่อไป ซึ่งคาดว่ากระบวนการพิจารณาจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วง 1 เดือนถึงเดือนครึ่ง ก่อนจะแข่งขันในเชิงพาณิชย์ได้จริงช่วงประมาณเดือนก.ย.นี้”
ทั้งนี้ภายหลังการพิจารณาจากยื่นอุทธรณ์แล้วเสร็จทาง กฟภ. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการภายในวันที่ 9 กันยายน 2564 และกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก หรือภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความพร้อมด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานจากก๊าซชีวภาพมากว่า 10 ปี และยังมีโรงไฟฟ้าต้นแบบอยู่ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่อง พร้อมทั้งยังได้ร่วมมือกับทางวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ในการจัดหาเชื้อเพลิงจะต้องมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดไว้ ซึ่งจากศักยภาพดังกล่าวเป็นการการันตีได้กว่า UAC เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจในระดับฐานรากเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคตต่อไป
“ UAC มีศักยภาพและความพร้อม ทั้งเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน รวมถึงด้านเชื้อเพลิง ที่สำคัญยังมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และยังมีเครือข่ายความร่วมมือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นจึงเชื่อว่าจากปัจจัยดังกล่าว UAC พร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาช่วยต่อยอดและผลักดันภาพรวมธุรกิจโรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพพืชพลังงานของพันธมิตรทุกราย ให้เติบโตอย่างยั่งยืนมีนัยสำคัญในอนาคต ” นายชัชพล กล่าวทิ้งท้าย