เปิดเดินรถข้ามแดนเมียนมาเดือนก.ย.นี้
“กรมการขนส่งทางบก” เผยความคืบหน้าการคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งไทย-เมียนมา เส้นทางจากเมาะลำไย-เมียวดี-พิษณุโลก-ขอนแก่น-มุกดาหาร และท่าเรือติลาวา-ท่าเรือแหลมฉบัง สรุปคัดเลือกผู้ประกอบเสร็จมิ.ย. นี้ กำหนดเปิดเดินรถต้นเดือนกันยายน 2562
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ภายหลังจากกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการเพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งภายใต้บันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย-เมียนมา ซึ่งให้สิทธิแต่ละฝ่ายในการออกใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) ไทย-เมียนมา จำนวนฝ่ายละ 100 ฉบับ โดยได้ออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารและหรือสินค้าระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 25 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการเดินรถโดยสาร และรถขนส่งสินค้าให้ความสนใจจำนวนมาก ขณะนี้อยู่ในระหว่างรวบรวมคำขอรับการคัดเลือกเพื่อเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกและกลั่นกรองผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562 และคาดว่าจะเปิดเดินรถข้ามแดนทั้งรถโดยสารและรถขนส่งสินค้าได้ช่วงต้นเดือนกันยายน 2562
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกร่วมกับกรมศุลกากรได้จัดอบรมเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) และการออกเอกสารนำเข้าชั่วคราว (Temporary Admission Document: TAD) ให้แก่ผู้แทนจากกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารและกรมศุลกากรของเมียนมาเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเดินรถดังกล่าว โดยทั้งสองฝ่ายจะได้กำหนดวันในการเดินรถต่อไป
สำหรับเส้นทางในการเดินรถได้มีการกำหนดไว้แล้วคือ เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (เมาะลำไย-เมียวดี-แม่สอด-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร) รวมถึงเส้นทางไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาในเมียนมา เมืองย่างกุ้ง กรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังในไทย (ผ่านเส้นทาง กอกะเร็ก-กอนโด-ซาทาพิน-ท่าตอน และ/หรือ กอกะเร็ก-กอนโด-พะอัน-ท่าตอน)
นายพีระพล กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่จุดผ่านแดนมุกดาหาร-สะหวันนะเขต และจุดผ่านแดนแดนสะหวัน-ลาวบาว และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ-ปอยเปต กรมการขนส่งทางบกได้มีการดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ทั้งสองฉบับอย่างครบถ้วน โดยภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม เริ่มเดินรถเมื่อปี 2552 มีโควตาจำนวนใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) ประเทศละ 400 ฉบับ ในเส้นทางแม่สอด-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร (ไทย)-สะหวันนะเขต-แดนสะหวัน (สปป.ลาว)-ลาวบาว-ดองฮา-เว้-ดานัง (เวียดนาม) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา เริ่มเดินรถเมื่อปี 2555 มีโควตาจำนวนใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) ประเทศละ 150 ฉบับ ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-กบินทร์บุรี-สระแก้ว-อรัญประเทศ หรือ กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-พนมสารคาม-กบินทร์บุรี-สระแก้ว-อรัญประเทศ (ไทย)-ปอยเปต-ศรีโสภณ-เปอสาต-พนมเปญ-นากหลวง-บาเวต (กัมพูชา) แต่เนื่องจากใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) มีอายุ 1 ปี และมีผู้ประกอบการบางส่วนไม่มาดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงทำให้มีโควตาเหลือในแต่ละปี
ล่าสุดที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกและกลั่นกรองผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดสรรใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) แก่ผู้ประกอบการขนส่งตามโควตาที่เหลือจำนวน 279 ฉบับ แบ่งเป็นสำหรับการขนส่งสินค้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม มีโควตาเหลือ 218 ฉบับ และจำนวนใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา มีโควตาเหลือ 61 ฉบับ โดยกรมการขนส่งทางบกจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับจัดสรรใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) เพื่อให้สามารถทำการประกอบการขนส่งได้ทันที