“อลงกรณ์” แนะผู้ส่งออกไปจีนใช้ด่าน ”ตงชิง-ผิงเสียง” แก้ปัญหาคอนเทนเนอร์ขาดแคลน
“อลงกรณ์”แนะผู้ส่งออกใช้ด่าน”ตงชิง-ผิงเสียง”แก้ปัญหาด่านโหยวอี้กวน-โมฮ่านติดขัดจนคอนเทนเนอร์ขาดแคลน พร้อมประสาน 900 ล้งภาคตะวันออกลงใต้ เร่งกลยุทธ์ขยายการค้าออนไลน์ทุแพลตฟอร์มเพิ่มการบริโภคในประเทศ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษาและมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ว่า คณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เข้าฤดูกาลลำไยภาคเหนือและผลไม้ภาคใต้อย่างใกล้ชิดตามข้อสั่งการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ ซึ่งผลผลิตออกมาเร็วกว่ากำหนด 1 เดือน ซึ่งราคาลำไยและมังคุดในเดือนมิถุนายน อยู่ในเกณฑ์ดีส่งออกได้มากขึ้น แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม ทำให้มีการออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มข้นมากกว่าเดิมโดยทางการจีน เวียดนามรวมทั้งไทยส่งต่อการค้าการขนส่งและการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทยจึงได้จัดประชุมทางไกลเร่งด่วนและประสานการทำงานกับสำนักงานเกษตรของไทยในจีนรวมทั้งสมาคมผู้ประกอบการค้าผลไม้ที่มีสมาชิกกว่า900 ล้ง และผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสรุปปัญหาล่าสุดและกำหนดมาตรการเพิ่มเติม 7 ประการดังนี้
1.เร่งการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์กลับจากจีนและเวียดนามทั้งการขนส่งทางบกและทางเรือให้หมุนเวียนกลับมาไทยเร็วที่สุด
2.ขอการสนับสนุนจาก ”ศบค.” จัดหาวัคซีนจำนวนอย่างน้อย 30,000 โด้สให้แก่พนักงานและแรงงานของบริษัทส่งออกและล้งตลอดห่วงโซ่ผลไม้เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของล้งและบริษัทส่งออก
3.ผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิดและอำนวยความสะดวกให้ผู้ค้าและล้งจากภาคตะวันออกซึ่งมีกว่า900ล้งสามารถเข้าไปรับซื้อผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชุมพรสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น
4.เร่งรณรงค์การบริโภคผลไม้ภายในประเทศ
5.ขยายการค้าออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม (B2C B2B B2F B2G)
6.เร่งระบายจำหน่ายผลไม้ออกจากพื้นที่กระจายทุกช่องทางโดยขอความร่วมมือภาคเอกชนและภาครัฐ
7.สนับสนุนคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.)และหน่วยงานภาครัฐเร่งขับเคลื่อนมาตรการตามที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้านี้จากคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ ทั้งแผนงานและงบประมาณตามแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและภาคใต้
นายอลงกรณ์ ย้ำเป็นข้อแนะนำด้วยว่า ขอให้ผู้ประกอบการส่งออกเข้าจีนทางเขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วงใช้ด่านตงชิงและด่านผิงเสียงเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของด่านโหยวอี้กวนและปรับแผนการขนส่งที่จะผ่านเวียดนามเพราะประกาศล่าสุดของทางการเวียดนามเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาห้ามผ่านเขตกรุงฮานอยทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางขนส่งมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 150 กิโลเมตร
“การขนส่งทุกเส้นทางยากลำบากมากเพราะเป็นฤดูฝนทั้งเส้นเชียงของผ่านด่านบ่อเตนของลาวไปผ่านด่านโมฮ่านในสิบสองปันนาของมณฑลยูนนานและเส้นทางจากนครพนมผ่านลาวเวียดนามไปจีนที่กว่างสีจ้วงฝนตกหนักตลอดและมีการตรวจโควิดเข้มข้นทุกด่านและบทลงโทษหากพบการปนเปื้อนโควิดก็รุนแรงมากขึ้นถึงขั้นถอนใบอนุญาตนำเข้า นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงฤดูกาลผลไม้เวียดนามที่มีผลผลิตออกมามากทำให้การขนส่งผ่านด่านจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราก็ให้ทีมเกษตรและพาณิชย์ไทยในจีนช่วยดูแลหน้างานอย่างใกล้ชิดเร่งคลี่คลายความแออัดโดยทางการจีนให้ความร่วมมืออย่างดีพร้อมกับให้กำลังใจผู้ประกอบการอย่าท้อเพราะรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการทำงานโดยเฉพาะ 7 มาตรการเพิ่มเติมซึ่งได้รายงานต่อท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกษตรฯ.เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาและท่านได้สั่งการทันทีให้ทุกภาคส่วนเร่งคลี่คลายแก้ปัญหา
ล่าสุด คพจ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานร่วมกับพาณิชย์จังหวัดและเกษตรและสหกรณ์จังหวัดได้ผ่อนปรนให้ล้งเข้ารับซื้อมังคุดเพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้นได้ขยายการค้าออนไลน์และเพิ่มบริการขนส่งโดยความร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทยคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซและคณะอนุกรรมการธุรกิจเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ. กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์พร้อมกันนี้ได้ประสานความร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ อสมท.และสื่อมวลชนทุกแขนงช่วยรณรงค์บริโภคผลไม้ไทยเช่นลำไย มังคุด เงาะ ลองกองเป็นต้น เมื่อการส่งออกเริ่มติดขัดก็ปรับกลยุทธ์เพิ่มอุปสงค์ในประเทศ ตัวอย่างเช่นปีนี้มังคุดภาคใต้มีผลผลิต 165,000 ตันเพิ่มขึ้นกว่า 20% สัดส่วนส่งออก 60% บริโภคในประเทศ40% และผลผลิตออกเร็วกว่าปกติ 1 เดือนจนชนกับผลไม้ปลายฤดูของภาคตะวันออก แถมล้งก็ข้ามเขตไปใต้แทบไม่ได้เลยเพราะมาตรการโควิดต้องตรวจโรคและไม่มีวัคซีนฉีดแรงงานชำนาญงานขาดแคลน ปัญหารุมเร้ามากตั้งแต่ต้นทางถึงด่านส่งออกรวมทั้งฝนที่ตกกระหน่ำในลาวและเวียดนามไม่เว้นแต่ละวันแต่เราก็สู้เต็มกำลังทุกวันเพื่อเกษตรกรของเรา เราจะฝ่าวิกฤตไปด้วยกันไม่ทอดทิ้งกัน ”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด
นอกจากมาตรกรรเพิ่มเติม 7 ประการยังมีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตตามความเหมาะสมของพื้นที่ การเชื่อมโยงตลาด ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีโดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC )และหน่วยงานส่งเสริมต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้และผลไม้อัตลักษณ์ตลอดจนการจัดทำแปลงเรียนรู้การส่งเสริมการผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP GMP เกษตรอินทรีย์ (Organic) และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ สหกรณ์ และศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้ QR Code และการสร้างแบรนด์ (Branding) เป็นต้น
ภายใต้โมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตและ” 5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย “ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแนวทางในการบริหารจัดการผลไม้ในสถาวะวิกฤติโควิด-19เน้นร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน และการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมจากศูนย์ AIC เพื่อยืดอายุผลผลิต และแปรรูปยกระดับสู่อุตสาหกรรมเกษตรอาหารเพิ่มมูลค่ารายได้ให้มากขึ้นต่อไป
จากข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร (23 ก.ค. 64) ถึงสถานการณ์การเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคใต้ มีดังนี้ ทุเรียน ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้ว ร้อยละ 32.83 เงาะ ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 33.46 มังคุด ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 23.16 ลองกอง ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 0.2