“โควิด”พ่นพิษประชาชนชะลอซื้อสินค้าและบริการดิจิทัล
วันนี้ (30 ก.ค. 64) “ดีป้า” เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 2 ปี 2564 พบทรงตัวในเกือบทุกองค์ประกอบ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 พ่นพิษ ส่งผลให้ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนชะลอคำสั่งซื้อและลดปริมาณการซื้อสินค้าและบริการดิจิทัล ขณะที่มาตรการภาครัฐขาดความชัดเจน โดยเฉพาะการบริหารจัดการวัคซีน กระทบความเชื่อมั่นและยังผลให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมชะลอตัว ด้านผู้ประกอบการวอนรัฐดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้ชัดเจน และควรมีบริการดิจิทัลสำหรับการติดต่อสื่อสารที่ไม่ขาดตอนในช่วง Work from Home เพื่อความสะดวกสบายแก่ผู้รับบริการ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แถลงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Sentiment Index) ไตรมาส 2 ประจำปี 2564 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 45.6 ทรงตัวจากระดับ 46.4 ของไตรมาส 1 ในเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งด้านผลประกอบการ การผลิต คำสั่งซื้อ ด้านการลงทุน และด้านต้นทุนประกอบการ
โดย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ระดับ 45.6 เป็นผลมาจากการที่ภาคธุรกิจและประชาชนชะลอคำสั่งซื้อและลดปริมาณการซื้อสินค้าและบริการดิจิทัล เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกที่ 3 รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะการบริหารจัดการวัคซีน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและยังผลให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมเกิดการชะลอตัว
หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะเห็นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ทั้งในแง่ผลประกอบการ คำสั่งซื้อ และการลงทุน มีเพียงกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) ที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 49.5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) อยู่ที่ระดับ 48.9 กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) อยู่ที่ระดับ 42.3กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) อยู่ที่ระดับ 42.0 และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) อยู่ที่ระดับ 40.7
“ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้ชัดเจน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยและแหล่งเงินกู้ ครอบคลุมทั้งประชาชนและผู้ประกอบการดิจิทัล รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีน ควบคู่ไปกับการเสริมความสามารถทางการแข่งขันผ่านมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และการสนับสนุนโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐ เพื่อขยายตลาดให้กับธุรกิจดิจิทัล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาครัฐควรมีบริการดิจิทัลสำหรับการติดต่อสื่อสารในช่วงที่ให้บุคลากรภาครัฐ Work from Home เพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดความสะดวกสบายแก่ผู้รับบริการ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว