ยานยนต์

“เอบีม คอนซัลติ้ง” เจาะลึกจุดเปลี่ยนยานยนต์อาเซียน

บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกจากญี่ปุ่น เผยผลการศึกษาตลาดรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียนและผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ ระบุประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีปริมาณรถจักรยานยนต์จำนวนมากกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดรถยนต์ในระดับที่แตกต่างกัน เอบีม คาดในที่สุดแล้วทุกประเทศจะผันตัวเข้าสู่ตลาดรถยนต์เต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ชี้ปัจจัยหลักสำคัญที่ผลักดันตลาดคือรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประเทศกลุ่มอาเซียน การวางนโยบาย และการขยายโครงสร้างพื้นฐาน แนะบริษัท OEM มองหาวิธีการรับมือก่อนที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้บริษัทก้าวทันตลาดแบบไม่ตกขบวน

มร. อิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือเอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่น เปิดเผยผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจของตลาดรถจักรยานยนต์และรถยนต์ของประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนที่มีระดับที่แตกต่างกัน จากการวิเคราะห์ดังกล่าวพบว่าตลาดรถจักรยานยนต์ของเมียนมาร์และเวียดนามยังคงมีแนวโน้มขยายตัว ด้วยจำนวนรถจักรยานยนต์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะที่อินโดนีเซียอยู่ระหว่างการเปลี่ยนจากตลาดรถจักรยานยนต์สู่ตลาดรถยนต์ สำหรับประเทศไทยถือเป็นตลาดกำลังพัฒนาเพียงแห่งเดียวที่พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงเรียบร้อยแล้ว โดยจะเห็นได้จากยอดขายรถจักรยานยนต์ที่ซบเซาลงเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตในทศวรรษก่อน สวนทางกับตลาดรถยนต์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดที่พัฒนาไปมากแล้วเมื่อในอดีต โดยเริ่มเติบโตมากขึ้นในกลุ่มรถจักรยานยนต์ระดับพรีเมียมที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถเทียบได้กับประเทศจีน ซึ่งมียอดขายรถจักรยานยนต์เครื่องยนต์ขนาด 250 ซีซี และที่ขนาดซีซีสูงกว่านั้นมีจำนวน 177,000 คันในปี 2562 นับเป็นการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 33% โดยเฉลี่ยต่อปี ตั้งแต่ปี 2553 ที่ยอดขายเพียง 10,000 คันต่อปีเท่านั้น

มร. อิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อประชากร (GDP per capita) ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงจะเลือกซื้อรถจักรยานยนต์ระดับพรีเมียมเพื่อเป็นงานอดิเรกหรือของสะสมที่หรูหรามากกว่าการนำไปใช้งานที่มีความจำเป็น และจะมีการเลือกซื้อรถยนต์มาใช้งานมากกว่ารถจักรยานยนต์ สำหรับใช้ในการเดินทางขั้นพื้นฐาน

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าความสัมพันธ์ระหว่างรายได้เฉลี่ยต่อประชากรและอัตราส่วนความเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์และรถยนต์ยนต์นั่งส่วนบุคคลในภูมิภาคอาเซียนแสดงออกมาเป็นกราฟรูปตัว U กลับหัว โดยจุดเปลี่ยนคือจุดที่จีดีพีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรพุ่งขึ้นถึงระดับหนึ่ง ซึ่งผู้คนมีรายได้เพียงพอที่จะซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้ ซึ่งอยู่ที่ระดับรายได้ที่ 3,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 98,760 บาท ถือเป็นช่วงเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนดังกล่าว โดยอัตราส่วนระหว่างรถจักรยานยนต์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อจีดีพีรายได้เฉลี่ยต่อประชากรเพิ่มถึงระดับที่สูงขึ้นอีกในระดับ 5,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 164,600 บาท หรือสูงกว่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่ผู้บริโภคจะเริ่มมีความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่หรือจักรยานไฟฟ้ามาเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยให้ตัวเอง

เอบีมยังพบว่าภูมิภาคอาเซียนยังคงมีบทบาทสำคัญกับตลาดรถจักรยานยนต์ทั่วโลก โดยเป็นตลาดอันดับที่ 3 ของโลกในด้านการผลิตและยอดจำหน่ายมานานหลายทศวรรษรองจากอินเดียและจีน ปัจจุบัน อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม เป็นตลาดสามอันดับแรกของอาเซียนที่มียอดขายรถจักรยานยนต์สูงสุดในปี 2562 คิดเป็นจำนวน 11 ล้านคัน จากทั้งหมด 13.7 ล้านคันในภูมิภาค ในการศึกษา ยังพบว่าเมียนมาร์ก็นับเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ ด้วยจำนวนรถจักรยานยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ภาวะนี้ได้รับแรงหนุนจากกฎหมายที่บังคับให้เจ้าของรถจักรยานยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนก่อนหน้านี้ต้องมาดำเนินการขึ้นทะเบียนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ช่วยเพิ่มความนิยมของรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคนี้ คือความสามารถในการขับผ่านตรอกซอกซอย รวมถึงบริเวณถนนที่มีการจราจรคับคั่ง และค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าของยานพาหนะโดยรวมที่น้อยกว่า ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดอาเซียน

“ในขณะที่ประเทศในอาเซียนกำลังเข้าสู่ภาวะการเปลี่ยนผ่านในระดับที่แตกต่างกัน เราได้เห็นตลาดรถจักรยานยนต์กำลังหดตัวในบางจุด ซึ่งสวนทางกับยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นแทน อย่างเช่น เวียดนามและเมียนมาร์ที่ไม่คาดว่าจะมีภาวะนี้เกิดขึ้นจนกว่าจะอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเราพบว่าอัตราส่วนรถจักรยานยนต์ต่อรถยนต์ของเวียดนามในปี 2562 ลดลงอย่างต่อเนื่องเกือบเท่าตัวมาอยู่ที่ระดับ 30.1 ต่อ 1 ในขณะที่อัตราส่วนของไทยอยู่ที่ 1.2 ต่อ 1 ซึ่งลดลงเล็กน้อยเท่านั้นเปรียบเทียบกับอัตราในทศวรรษก่อน ดังนั้นในขณะตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงหรือเริ่มต้นขยับเปลี่ยนไปสู่ตลาดรถยนต์ ผู้ผลิต OEM ควรพิจารณาปรับตัวก่อนล่วงหน้า โดยเอบีมเชื่อว่าการเจาะลึกแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าเป็นก้าวสำคัญสำหรับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในการสร้างความแตกต่างอย่างแข็งแกร่งจากแบรนด์อื่น ๆ ได้ ซึ่งจริง ๆ เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์ให้ความสำคัญอย่างจริงจังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต่างจากผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ที่โดยทั่วไปจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้น้อยกว่า ดังนั้นในเมื่อลูกค้าเริ่มมีการพัฒนาไปสู่ตลาดประเภทใหม่ ๆ การมีเครื่องมือวิเคราะห์ต่าง ๆ ที่พร้อมใช้งานก่อนเข้าสู่ระดับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงจะสามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดแบ่งกลุ่มผู้บริโภค และให้คำแนะนำผู้บริโภคได้ชัดเจนและดีมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ เอบีมมีความเชี่ยวชาญ รวมถึงมีเครื่องมือในการสนับสนุนตัวแทนจำหน่ายและบริษัท OEM เพื่อให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเพื่อนำธุรกิจไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง” คุณโจนาธาน วาร์กัส รุอิซ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ยานยนต์อาเซียน บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวสรุป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button