การเงิน

‘กลุ่มพรินซิเพิล’ มองการลงทุนครึ่งปีหลัง ชี้โอกาสลงทุน หุ้นเวียดนาม ยุโรป เอเชียแปซิฟิค รีทส์ รับเศรษฐกิจฟื้นตัว

บลจ.พรินซิเพิล จัดสัมมนาใหญ่ Virtual Seminar PRINCIPAL INVESTMENT FORUM 2H/2021 ภายใต้ธีม The Great Vaccination – Reaching Herd Immunity and Reopening the Global Economy เจาะลึกโอกาสเข้าลงทุนในหุ้นไทย หุ้นยุโรป หุ้นเวียดนาม โกลบอลรีทส์และรีทส์ไทย รับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายจะเป็นปัจจัยเร่งตลาดหุ้นฟื้นตัว

นายศุภกร ตุลยธัญ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด กล่าวในงาน Virtual Seminar PRINCIPAL INVESTMENT FORUM 2H/2021 ภายใต้ธีม The Great Vaccination – Reaching Herd Immunity and Reopening the Global Economy ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นครึ่งปีหลังคือความสามารถการกระจายวัคซีนของแต่ละประเทศ โดยพบว่ามีหลายประเทศที่กระจายวัคซีนแล้วมากกว่า 50% ของประชากรทั้งหมด โดยที่ตลาดหุ้นในประเทศกลุ่มนั้นมีความสามารถปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับก่อนเกิด COVID-19 และเหนือกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมีผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้อย่างยั่งยืนคือการเร่งฉีดวัคซีนของไทยให้ได้เกิน 50% โดยเร็ว และการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงจะนำไปสู่การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นในการลงทุนได้ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้นแนะนำการลงทุนในตลาดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงแล้ว และดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจมีการเร่งตัว เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นยุโรป อย่างไรก็ตามก็มีความเสี่ยงทางด้านปัจจัยพื้นฐานที่ควรติดตาม ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความกังวลของนักลงทุนทั่วโลก ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ย้ำว่าเป็นเพียงการปรับขึ้นชั่วคราว และในขณะเดียวกันค่าเงินของสหรัฐฯ ปัจจุบันเริ่มกลับมามีแนวโน้มแข็งค่า ส่งผลให้ค่าเงินบาทเกิดการอ่อนค่าไปแล้วประมาณ 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มแข็งขึ้นอีกอย่างน้อย 3-6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี และแนวโน้มการเริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของเฟดเมื่อเทียบกับ ธ.กลางอื่นๆ

ทั้งนี้ คาดว่าเฟดจะเริ่มลดวงเงิน QE ในปี 2022 และมีเป้าหมายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2023 อย่างไรก็ตามประเมินว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งแม้ลดวงเงิน QE โดยสถิติปี 2013 ที่เฟดเคยลด QE พบว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลงเพียง 5% และกลับมาเพิ่มขึ้น 17% ภายในสิ้นปี นอกเหนือจากนั้นยังมีการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯเพิ่มเติมจากนโยบายการคลังผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปลายปีนี้และการลงทุนในนโยบายสวัสดิการสังคมในปี้หน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อเนื่องสำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนตลาดหุ้นไทยในเมื่อปี 2013 นั้นปรับลดลงถึง 20% จากการประกาศลด QE จึงอาจจะเป็นแรงกดดันในเชิง Fund Flow สำหรับตลาดไทย ประกอบกับการแพร่ระบาดแบบเร่งตัวของไวรัสโควิด ถือเป็นสองปัจจัยหลักที่จะกดดันตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/2564 ในขณะที่การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงท้ายปี ดังนั้นช่วงที่ดัชนีปรับลดลงจึงเป็นโอกาสเก็บสะสมหุ้นเข้าพอร์ต

“เราแนะนำแผนการลงทุนแบบ Income ที่มีลงทุนในหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศรวมกัน 15% และแผน Balance ลงทุนในหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศรวมกัน 40% เนื่องจากในกรณีที่ตลาดผันผวน ผลขาดทุนจะยังไม่สูงเท่าพอร์ตที่มีหุ้นเยอะมาก และมองกลุ่มอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ ไฟแนนซ์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและรีทส์ มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับตลาด โดยมองว่า ไตรมาส 3 เป็นโอกาสลงทุน ไตรมาส 4 หุ้นไทยน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น และปี 2022 จะเป็นปีที่ดีสำหรับการลงทุนในหุ้นไทย” นายศุภกร กล่าว

 

Mr. Adrian Tan, Executive Director, Morgan Stanley Investment Management กล่าวในหัวข้อ Disruptive Change – The Investment of Disruptive Era ว่า ทีมบริหารกองทุน Morgan Stanley Investment Funds Global Opportunity Fund ได้ศึกษาวิถีชีวิตผู้คนในสังคม รวมถึงวิเคราะห์เทรนด์การเปลี่ยนแปลง เพื่อหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจที่จะเป็นผู้ชนะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก (Disruptive Change) ผ่าน 5 องค์ประกอบ ได้แก่ Disruptive Change, Competitive Advantage, Growth, Financial Strength และ ESG ยกตัวอย่างกิจการที่กองทุนได้มีการลงทุนมาอย่างยาวนาน ทั้งยังได้กล่าวถึงมุมมองเชิงบวกและโอกาสการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชียด้วย

Mrs. Serene Chng, Senior Portfolio Management, Principal Asset Management (S) Pte Ltd. กล่าวในหัวข้อ Asia Pacific – Investment Opportunities in the New Normal with Endemic COVID-19 ว่า พรินซิเพิลมองว่าในปี 2022 ภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกจะเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จากการเปิดประเทศหลังกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากจะเห็นการปรับเพิ่มประมาณการ EPS (กำไรต่อหุ้น) และประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่กดดันความกังวลของนักลงทุน มองว่าเป็นการปรับขึ้นระยะสั้นและผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ตลาดหุ้นในเอเซียแปซิฟิกยังมีเงินทุนไหลเข้าไม่มากและ Valuation ของหุ้นยังไม่แพง โดยการลงทุนในหุ้นเอเซียแปซิฟิกจะมีธีมหลักๆที่น่าสนใจอยู่ 4 ธีมด้วยกัน ได้แก่ 1) Deep Domestic Economies ซึ่งมาจากการคาดการณ์ว่าปี 2030 ชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นจาก 2,000 ล้านคน เป็น 3,500 ล้านคน อันนำไปสู่อำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค 2) Electronic Vehicles (EV) หรือยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากเอเซียแปซิฟิกเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญ และจีนเป็นตลาดใหญ่ของรถ EV คาดว่าปี 2025 จีนจะมีสัดส่วนรถ EV ถึง 25% และปี 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็น 43% 3) Renewables หรือพลังงานทดแทน โดยเอเซียแปซิฟิกมีความเชี่ยวชาญการผลิตและส่งออก รวมถึงมีต้นทุนการผลิตลดลงเรื่อยๆ และ 4) New Information Technology ยกตัวอย่างประเทศอินเดียได้รุกสู่การพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ เช่น กลุ่มทาทาที่ลงทุนพัฒนาซูเปอร์แอปพลิเคชันเองอย่างจริงจัง

 

Ms. Janine Yoong, Portfolio Manager, Principal Global Investors กล่าวในหัวข้อ Global REITs – The Investment of the Normality ว่า ปัจจัยที่ควรลงทุนในโกลบอลรีทส์ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดีเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ช่วงขยายตัว โดยรีทส์มักมีรายได้จากค่าเช่าซึ่งจะปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ และที่สำคัญยังพบว่ารีทส์จะมีผลการดำเนินงานที่ดีเมื่ออัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ยกตัวอย่างรีทส์ในสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 86% ในช่วงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้รีทส์ยังเป็นสินทรัพย์สำหรับกระจายความเสี่ยงได้ดี โดยปัจจุบัน Valuation ของรีทส์ถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับในอดีต ทั้งนี้สำหรับผลกระทบของรีทส์จากปัจจัยเรื่องการระบาดของโรคโควิท-19 นั้นจะค่อนข้างมีความแตกต่างกันตามประเภทของรีทส์ โดยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1) Driven ที่ได้ประโยชน์จาก COVID-19 เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ 2) Resilience ที่ฟื้นตัวได้เร็ว เช่น อพาร์ตเมนต์,ห้องเก็บของส่วนตัว, หอพักนักศึกษา ฯลฯ 3) Disrupted ซึ่งเป็นรีทส์ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น โรงแรม, ออฟฟิศ, มอลล์และเอาต์เลต เป็นต้น

Ms. Juliet Cohn, Portfolio Manager, Principal Global Investors กล่าวในหัวข้อ Europe Equity – The Investment of the Reopening Year ว่า ตลาดหุ้นในยุโรปมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่โดดเด่น เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัวแต่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อน COVID-19 และราคาหุ้นยุโรปยังค่อนข้างถูก โดยปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจยุโรป ได้แก่ 1) การตั้ง European Recovery Fund (กองทุนฟื้นฟูยุโรป) 2) เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาด 3) มีการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว 4) เงินออมภาคครัวเรือนน่าจะถูกนำมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเมือง และ 5) มีกิจการที่เป็นแบรนด์ระดับ ไฮเอนด์และเซมิคอนดักเตอร์ให้ลงทุน

นายชาตรี มีชัยเจริญยิ่ง ผู้จัดการกองทุนและหัวหน้าการลงทุนฝ่ายตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด กล่าวในหัวข้อ Supply Chain Transformation and Vietnam Manufacturing Boom ว่า ปัจจุบันเวียดนามกำลังปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของโลก หลังจากเกิดการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากความขัดแย้งทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านค่าแรง รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต สาธารณูโภคและอสังหาริมทรัพย์ โดยมีผู้ประกอบการชั้นนำที่เข้ามาลงทุน อาทิ LG,PANASONIC, FOXCONN ฯลฯ คาดว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติหรือ FDI ในปี 2564 จะมีสัดส่วน 6% ของจีดีพีเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเวียดนามในช่วง 10 ปีนับจากนี้

สำหรับกลุ่มหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนคือ อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยและโลจิสติกส์ จากการเติบโตของภาคการผลิตและสังคมเมือง โดยไตรมาส 2 การนำเข้า-ส่งออกของเวียดนามโต 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันเวียดนามจะเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ของ แต่ บลจ.พรินซิเพิล ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุน โดยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสามารถคลายการคลายล็อกดาวน์และเริ่มเปิดเมืองในเดือนกันยายน และจะเร่งฉีดวัคซีนแก่ประชาชนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ช่วงล็อกดาวน์จึงเป็นโอกาสทยอยลงทุน เนื่องจากการปรับฐานของตลาดหุ้นเวียดนามได้สะท้อนข่าวร้ายหมดแล้ว โดยสามารถลงทุนผ่าน กองทุนพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (PRINCIPAL VNEQ) ซึ่งเป็นกองทุนแฟลกชิพที่เข้าลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นเวียดนามและให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 2 ปีประมาณ 50% (Benchmark 73.35% source : Morning Star ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564)

โดยนายธนา เชนะกุล ผู้จัดการกองทุนฝ่ายตราสารทางเลือก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด กล่าวในหัวข้อ Alternative Investment: Opportunities Arising in Thai REITs ว่า รีทส์ไทยมีจุดเด่นที่จ่ายผลตอบแทนจากเงินปันผลอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยมากกว่า 5% ต่อปีมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2016 แม้ในปีที่ผ่านมาที่มี COVID-19 รีทส์ไทยสามารถจ่ายเงินปันผลเฉลี่ย 5.84% (Source : Bloomberg ณ ธันวาคม 2563) ต่อปีทั้งนี้หลังการระบาดของ COVID-19 ราคารีทส์ไทยยังปรับขึ้นช้ากว่าหุ้น เนื่องจากการ Lockdownส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตนอกบ้าน และการกระจายวัคซีนยังไม่ถึงเป้าหมายรวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป็นจังหวะที่ควรลงทุนในรีทส์ โดย บลจ.พรินซิเพิล พิจารณาจากการวิเคราะห์ที่สำคัญต่างๆ เช่น ปัจจัยพื้นฐานเชิงธุรกิจ ปัจจัยทางเทคนิค และปัจจัยด้านราคาพื้นฐาน โดยเราพบว่า แม้การระบาดของโรค COVID-19 จะส่งผลต่ออัตราการจ่ายเงินปันผลต่อหน่วยของรีทส์ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตนอกบ้าน โดยกลุ่มโรงแรมอาจได้รับผลกระทบที่หนักกว่ากลุ่มอื่นๆ จากนักท่องเที่ยวที่ลดลง ในขณะที่กลุ่มค้าปลีก และออฟฟิศยังคงมีเสถียรภาพโดยมีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยค่อนข้างสูงในทำเลที่ดี อีกทั้งในระยะยาวการ Work from Home ไม่สามารถทดแทนการเข้าออฟฟิศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมแม้ได้รับผลกระทบจากความต้องการเช่าพื้นที่ลดลงและการเดินทางไปดูพื้นที่ทำได้ยากขึ้น แต่ก็ยังมีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยสูงกว่า 85% ระยะยาวคาดว่าน่าจะได้รับผลเชิงบวกจากความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนจะเป็นปัจจัยเร่งที่มีผลต่อราคารีทส์และพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ ปัจจุบันคาดว่ารีทส์ไทยเข้าใกล้จุดต่ำสุดแล้ว จาก Fund Flow ที่ไหลออกไปตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาด COVID-19 สะท้อนถึงแรงขายในอนาคตที่มีจำกัด ในขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของ REITs ไทย เทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี มีส่วนต่างประมาณ 3.7% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี บ่งชี้ว่าราคารีทส์ไทยตอนนี้ ยังไม่สะท้อนโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่ง บลจ.พรินซิเพิล มีการปรับพอร์ตการลงทุนให้มีการกระจายความเสี่ยงอย่างสมดุลมากขึ้น โดยมีกองทุนพรินซิเพิล พร็อพเพอร์ตี้ อินคัม (PRINCIPAL iPROP) ที่ลงทุน RIETs ไทยและสิงคโปร์อย่างละประมาณ 50:50 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับพอร์ตมาลงทุนรีทส์ไทยเพิ่มขึ้น จาก upside ที่ค่อนข้างน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว

นายศุภกร ตุลยธัญ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน กล่าวโดยสรุป “เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในครึ่งปีหลัง ของปีนี้ การเร่งฉีดวัคซีนของหลายประเทศ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป แนะนำการลงทุนในกลุ่มประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูงเป็นลำดับแรกๆ เช่น สหรัฐฯและยุโรป โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะมีอัตราการฉีดสูงขึ้นเป็นลำดับถัดไปรวมทั้งประเทศไทย ทั้งนี้ประเทศเวียดนามมีความน่าสนใจลงทุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงและธีมการลงทุนที่ค่อนข้างชัดเจน และควรจะเพิ่มการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์รีทส์ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในภาวะเศรษฐกิจขยายตัวและ valuation ที่น่าสนใจ เราคงเน้นกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนแบบ Income และ Balance ที่มีการให้น้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงที่พอเหมาะ และมีการควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า”

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button