กระทรวงเกษตรฯ ผนึกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์คิกออฟสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส.ครั้งแรกในไทย
เดินหน้า ”5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ฝ่าวิกฤติโควิด กระทรวงเกษตรฯ ผนึกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์คิกออฟสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส.ครั้งแรกในประเทศไทย “อลงกรณ์” เล็งเป้าตลาดแสนล้านปั้นไทยฮับอาเซียน
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางและแผนดำเนินการขับเคลื่อน” สภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส.แห่งประเทศไทย”วันนี้ว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมากโดยมีมูลค่ากว่า1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า3ล้านล้านบาท มีอัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ ส่วนตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วคือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทยมีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท ยังขยายตัวได้อีกมากด้วยนโยบายและกลยุทธ์ใหม่ๆ คาดว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่องสุขภาพจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ทวีมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมทั้งเป็นสินค้าเกษตรแห่งอนาคต(Future Food)ที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกได้อย่างมากจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การแปรรูป การบริโภค การค้าสินค้า และ การบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและได้จัดให้มี”ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564”โดยมีคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติและคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกระดับนโยบายและมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภายใต้3คณะทำงานได้แก่คณะกรรมการด้านเกษตรอินทรีย์ คณะทำงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสานและคณะทำงานด้านวนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ
ทั้งนี้รั ฐบาลได้จัดงบประมาณปี 2564จำนวน 1.9 พันล้านบาทสนับสนุนโครงการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆรวมทั้งสิ้น 209 โครงการเช่นโครงการข้าวอินทรีย์ ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่
สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานได้เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการปี 2564-2565เดินหน้าจัดทำร่าง พรบ.เกษตรกรรมยั่งยืนพร้อมกับอนุมัติให้มีการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติรวมทั้งการจัดทำโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(Urban Farming)และโครงการธนาคารสีเขียว(Green Bank) เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติโควิด19ได้มอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)จัดทำหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม(PGS)พร้อมกับจัดตั้ง”สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.(PGS)แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก
วันนี้จึงถือเป็นวันดีเดย์ก้าวแรกของสภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส. ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรเกษตรอินทรีย์หลักๆเช่น มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย มูลนิธิ เกษตรกรรมยั่งยืน สมําพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่ง ประเทศไทย ยังมีกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส ในเครือข่ายอื่นๆ อีกเป็นจํานวนมากที่พร้อมจะร่วมกันขับเคลื่อนสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส และแผนดําเนินงานขับเคลื่อนระบบ พี จี เอสของประเทศให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
(1) เพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์
(2) เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์
(3) เพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
(4) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาค
การจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องบริหารเชิงกลยุทธ์แบบSand Box Modelให้เกิดความคล่องตัวเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นทั้งนี้จะต้องพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์โดยเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC)อย่างใกล้ชิดด้านการวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการอบรมบ่มเพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบออนไลน์และออฟไลน์เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค การสร้างแบรนด์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเชื่อมโยงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผลผลิตทั้งพืชและสัตว์กับโครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมเกษตรอุตสาหกรรม ประการสำคัญคือจะต้องมีรวมศูนย์ข้อมูลกลางของเกษตรอินทรีย์ซึ่งสามารถใช้ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(National Agriculture Big Data Center:NABC)ได้ทันทีและควรยึดหลัก”Zero Kilometer”คือ”ผลิตที่ไหนขายที่นั่น”จะได้ผลิตตามความต้องการของตลาดที่ใกล้ตัวที่สุดจากในชุมชนสู่ภายในจังหวัดในระดับภาคระดับประเทศและต่างประเทศตาม5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แก่ตลาดนำการผลิต,เทคโนโลยีเกษตร4.0,3S(safety-security-sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน,ศาสตร์พระราชาและบูรณาการเชิงรุกทุกภาคส่วน
เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4ประการ
(1) เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่ ภายในปี 2564
(2) เพิ่มจำนวนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ภายในปี 2564
(3) เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออกโดยให้มีสัดส่วนตลาดในประเทศร้อยละ 40 ต่อตลาดส่งออกร้อยละ 60
(4) ยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น
“สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.ต้องบูรณาการ360องศา เปิดกว้างสร้างพันธมิตรทำงานเชิงโครงสร้างและระบบ วันนี้เป็นวันแรกเป็นช่วงของการจัดตั้งและเดินหน้า(Setup Startup)ต่อด้วยการเชื่อมโยงต่อยอดให้สำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ สภาเกษตรอินทรีย์เปรียบเสมือนคานงัดที่จะสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่ออนาคตของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยของเรา”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด
การประชุมสัมนาเชิงปฏิบัติครั้งนี้มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษมอบนโยบายโดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวรายงาน ผ่านระบบ zoom cloud meeting โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมกว่า300คนรวมทั้งนายสำราญ สารบรรณ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรและอดีตอธิบดีกรมการข้าว นางจินตนา อินทรมงคล ผู้แทนมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย นายอนันตโชค ศักดิ์สวัสดิ์ ผู้แทนสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส นายอนุรักษ์ เรืองรอบ ตัวแทนสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย นายชฤทธิพร เม้งเกร็ด ผู้แทนสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย นายสมนึก ยอดดำเนิน จากบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด และผู้แทนเกษตรกร และผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านเกษตรอินทรีย์