TSI Insurance เดินหน้าสร้างธุรกิจแข็งแกร่ง
นางสาวอรลดา เผ่าวิบูล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TSI Insurance เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรทั้งผู้ถือหุ้นและการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ว่า เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว บริษัทฯ ได้อยู่ระหว่างดำเนินการ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยการลงทุนในระบบ Core Insurance ใหม่ เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทางธุรกิจประกันภัยในอนาคตที่กำลังจะมาถึง และสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่หรือ IFRS 17 ที่จะประกาศใช้ในปี 2021 โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯได้พัฒนาและเชื่อมต่อระบบ Web service ให้เป็นช่องทางการขายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตัวแทนรายย่อย โบรกเกอร์ และคู่ค้าของบริษัทฯ มากขึ้น
นางสาวอรลดากล่าวว่า ปีนี้บริษัทยังมีนโยบายด้านการพัฒนาบุคลากรอย่างเข้มข้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทั้งการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพทีมงานให้มีคุณภาพทั้งด้านความรู้และงานบริการ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเตรียมความพร้อมสำหรับแผนงานในอนาคตที่มุ่งสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งวางบทบาทให้ทีมงานเปรียบเสมือนที่ปรึกษาให้คำแนะนำด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับลูกค้า ตลอดจนการเปิดรับทีมงานใหม่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาเข้ามาเสริมทัพ
สำหรับในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมสิ้นปีประมาณ 600 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์การรับประกันงานคุณภาพซึ่งมาจากงานกลุ่ม Motor ร้อยละ 70 แบ่งเป็นประกันภัยภาคสมัครใจร้อยละ70 ครอบคลุมทั้งประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ประเภท 2 ประเภท 3 และ พ.ร.บ. ร้อยละ 30 ส่วนงานกลุ่ม Non Motor ร้อยละ 30 จะรุกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความโดดเด่นและตรงกับความต้องการลูกค้าแบบครบวงจร ทั้งประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล PAประกันภัยธุรกิจ SMEประกันการเดินทางในประเทศTAประกันภัยบ้าน ประกันภัยทรัพย์สิน ประกันภัยวิศวกรรม ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด โดยจะเดินสายพบปะลูกค้าในกลุ่มโบรกเกอร์ตัวแทนในต่างจังหวัดมากขึ้น
ด้านนางสาวคณิดา นิมมาณวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี (CFO) กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เป้าหมายทางธุรกิจของ TSI มีความคล่องตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจตามแผนข้างต้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงได้อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ ในจำนวนไม่เกิน 1,081,754,992 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 2,163,509,984 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) รวมเป็นหุ้นสามัญไม่เกิน 3,245,264,976 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50บาท โดยจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่เกิน 2,163,509,984 หุ้น ในอัตรา 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 2 หุ้นสามัญที่ออกใหม่
โดยกระบวนการก่อนการเพิ่มทุนดังกล่าว บริษัทจะดำเนินการลดทุนจดทะเบียนบริษัทฯจาก 1,326,518,451 บาท เป็น 1,081,754,992 บาท ด้วยการยกเลิกหุ้นสามัญที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายจำนวน 244,763,459 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท หลังจากนั้น จะดำเนินการลดมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้น (Par Value) จากหุ้นละ 1.00 บาท เป็นหุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทฯ ลดลงจาก 1,081,754,992 บาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,081,754,992 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00บาท เป็นจำนวน 540,877,496 บาท โดยมีจำนวนหุ้นสามัญคงเดิมเท่ากับ 1,081,754,992 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท
ทั้งนี้ เพื่อหักลบส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นและชดเชยผลขาดทุนสะสมที่ยังเหลืออยู่ ส่งผลให้ฐานะการเงินของบริษัทฯ ที่แสดงในงบการเงินสะท้อนสถานะทางการเงินที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทฯ ลดลงจาก 1,081,754,992 บาท เป็น 540,877,496 บาท และเป็นการลดทุนที่สามารถชดเชยผลขาดทุนสะสมในระดับที่เหมาะสม และสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับฐานะการเงิน การขยายธุรกิจ และปรับปรุงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในระยะยาว
“แผนการแก้ไขปัญหาทางการเงินข้างต้น ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทแล้ว หลังจากนี้ บริษัทฯ จะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติอนุมัติแผนดังกล่าวในวันที่ 28 มิถุนายนศกนี้ ซึ่งการดำเนินการภายใต้แผนการลดทุน ลดพาร์ครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเพียงการหักลบตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น” นางสาวคณิดากล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส1/2562ที่ผ่านมา บริษัทมีผลขาดทุนลดลงทั้ง YoY และ QoQ สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งการปรับปรุงพอร์ตการลงทุนและการควบคุมคุณภาพการรับงานประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR RATIO) ในไตรมาสเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 254.35 จากไตรมาสก่อนหน้า (Q4/2561) ที่ร้อยละ 232.23 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่คปภ.กำหนดไว้ ทั้งนี้เมื่อบวกกับแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเงินที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ รวมไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2562-2564) ที่บริษัทตั้งเป้ามีเบี้ยประกันภัยรับ 1,400 ล้านบาทแล้ว เชื่อว่า TSI จะได้รับการปลดเครื่องหมาย “C” จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในที่สุด