พลังงาน

“นายฮ้อย” โรงไฟฟ้าชุมชน (ตอนที่ 2)  

“นายฮ้อย” โรงไฟฟ้าชุมชน (ตอนที่ 2) ถอดรหัส “นายฮ้อย” ฟันอัตราค่าไฟเข้าวินโรงไฟฟ้าชุมชน

“โรงไฟฟ้าชุมชน” เจอโรคเลื่อนนับครั้งไม่ถ้วน..!!

แถมยังลุ้นหนักขึ้นหลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ล่าสุดแม้จะปักหมุดประกาศผลการพิจารณาผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเป็นวันที่ 23 กันยายน 2564 จากเดิมกำหนดวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา หรือ เลื่อนออกไปอีก 21 วัน

พร้อมขยับไทม์ไลน์ใหม่ให้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในวันที่ 21 มกราคม 2565 และปรับกำหนดวัน SCOD เป็นภายใน 36 เดือน นับจากวันลงนามสัญญา…

แต่ทุกอย่างยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้หมด ขึ้นอยู่กับผู้กำกับ “เกมส์”

ชั่วโมงนี้ยังถือว่าอยู่ในโหมดการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งมีความหมายด้านการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะเกษตรกรที่รอคอยมาเนิ่นนาน ท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโควิด เชื่อว่าจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน 1 เมกะวัตต์ จะใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาท ถ้ากระทรวงพลังงานเร่งผลักดันการลงทุนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ให้เกิดขึ้นจริง จะทำให้มีเม็ดเงินลงไปเศรษฐกิจฐานรากถึง 15,000 บาท ทันที

ตามหลักเศรษฐศาสตร์การอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าไปจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 4 เท่า นั่นหมายความว่าจะทำให้มีเงินสะพัดในระบบกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลไม่ต้องควักกระเป๋าแม้แต่บาทเดียว

นี่ยังไม่รวมรายได้ที่จะเกิดขึ้นกับ “เกษตรกร” จากการสร้างงาน สร้างอาชีพที่เกิดขึ้นในชุมชน จากการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนให้ครบ 150 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้นใหม่เกือบ 40 แห่ง คาดว่าจะมีเงินลงไปช่วยเหลือชุมชนปีละ 2,000 กว่าล้านบาท

ถือเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ…

ดีกว่าปล่อยภาครัฐมุ่งใช้เครื่องยนต์ตัวเดียวคือ การกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือกิจการและลูกจ้าง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิดทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ รายได้ในครัวเรือนลดลง เผชิญปัญหาการปิดกิจการ จนทำให้ช่วงที่ผ่านมาเกิดหลุมรายได้ที่หายไปกว่า 2.6 ล้านล้านบาท

ฝากความหวังกระทรวงพลังงานต้องเร่งลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน และดำเนินการอย่างโปร่งใส เพื่อให้การจ้างงานเงินทุกบาททุกสตางค์ลงไปถึงมือชุมชนจริงๆ อย่าให้ซ้ำรอยอดีตอย่าง “โซลาร์ฟาร์ม” อันโด่งดังก็แล้วกัน

โดยเฉพาะการเข้ามาของกลุ่ม “นายฮ้อย” ที่ออกล่าใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อนำโครงการไปขายต่ออีกทอด ด้วยการตั้งราคาขายต่อใบ PPA อยู่ที่เมกะวัตต์ละ 22 ล้านบาท และต้องจ่ายเงินสถานเดียวเท่านั้น ซึ่งทำให้หลายฝ่ายห่วงว่าโรงไฟฟ้าชุมชนบางโครงการจะไปถึงฝั่งหรือไม่

ปัจจัยที่เป็นห่วงโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่กลุ่ม “นายฮ้อย” ยื่นเสนอไป มีการยื่นเสนออัตรา “ค่าไฟฟ้าถูก” หรือราคาต่ำเกินความเป็นจริงนั่นเอง

การคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนได้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าเอาไว้ โดยเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ได้กำหนดอัตรา feed-in tariff (FIT) อยู่ที่ 4.8482 บาท/หน่วย กำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ คิดอัตรา FIT ที่ 4.2636 บาท/หน่วย

ส่วนอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) มี FIT ที่ 4.7269 บาท/หน่วย ซึ่งทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FIT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษอีก 0.50 บาท/หน่วยอีกต่างหาก

หลักเกณฑ์การคัดเลือกจะพิจารณาจากผู้ที่ยื่นเสนออัตราค่าไฟ “ต่ำสุด” จากที่กำหนดไว้ จะเป็นผู้ชนะคว้า ”โรงไฟฟ้าชุมชน” ทันที

ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทางกลุ่ม “นายฮ้อย” ได้ยื่นประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพในครั้งนี้ โดยได้เสนอค่าไฟต่ำสุดอยู่ที่ 3.50-4.00 บาทต่อหน่วย เพื่อตีตั๋วคว้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน รวมๆ แล้วประมาณ 20-30 เมกะวัตต์

ซึ่งสวนทางกลุ่มนักลงทุนหลายรายที่ยืนยันกับ “สำนักข่าวไทยมุง”ว่า อัตราค่าไฟที่เหมาะสมกับการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ที่ 4.30 บาทต่อหน่วย ขึ้นไป

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “นายฮ้อย” กล้าหาญกดอัตราค่าไฟต่ำติดดิน เพราะดีดลูกคิดแล้วมั่นใจว่า ผู้ที่รับใบ PPA ไป ยังพอมีโอกาสลงทุนโครงการให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการลดต้นทุนด้านต่างๆ ลง ไล่เรียงตั้งแต่การปลูกหญ้าเนเปียร์ จะใช้วิธีปลูกรอบๆ โรงไฟฟ้าเป็นลักษณะคล้ายๆ “ไข่ดาว” เพื่อลดต้นทุนการขนส่งระยะทางไกลๆ

ประการต่อมาด้านการลงทุน ซึ่งมาจากค่าเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าประมาณ 65 ล้านบาท บวกค่าก่อสร้าง ปกติจะรวมๆ อยู่ที่ 100 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์

แต่มีการปรับค่าราคาค่าเครื่องจักรลงมาอยู่ที่ชุดละ 25 ล้าน หรือต่ำสุดก็มีชุดละ 12 ล้านบาท เพื่อลดต้นทุน ซึ่งเครื่องจักรที่ใช้จะมีอายุ 5 ปีเท่านั้น พอครบอายุแล้วทิ้งเลย เพราะถือว่าคุ้มทุนแล้ว

จากนั้นค่อยใช้เครื่องจักรชุดที่ 2 อายุประมาณ 10 ปี และชุดที่ 3 อายุประมาณ 5 ปี

ว่ากันว่า การแข่งขันโรงไฟฟ้าชุมชนรอบนี้ ใช่ว่าจะมีเพียงนักลงทุนลุยกันโดดๆ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่รอบนี้ได้มีเจ้าของเทคโนโลยีเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าก็ช่วยออกแรงหนุนให้ได้งานเต็มที่ด้วย

การชิงชัยโรงไฟฟ้าชุมชนจึงเข้มข้นยกกำลังสอง…

และเผอิญช่วงเวลาการประกาศผลผู้ชนะ วันที่ 23 กันยายน นี้ สบจังหวะอยู่ช่วงหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 5 รัฐมนตรี แม้ว่าการโหวตจะมีเสียงสนับสนุนท่วมท้นสภาฯ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564 แต่เกิดรอยร้าวในพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล น่าจะนำไปสู่การปรับใหญ่ ครม. ในเร็วๆ นี้

นับถอยหลัง ลุ้นกันอีกยก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนใหม่ กับทิศทางการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน..!!

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button