“แอลจี”ตั้งเป้านำพลาสติกรีไซเคิลกว่าครึ่งล้านตันกลับมาใช้ใหม่
กรุงโซล, 14 กันยายน 2564 – แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (แอลจี) ประกาศเป้าหมายในการนำพลาสติกรีไซเคิลจำนวน 600,000 ตัน กลับมาใช้ใหม่ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างการดำเนินงานภายใต้ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของบริษัท อีกทั้งเป้าหมายดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่ใหญ่กว่าของแอลจีในการสร้างอีโคซิสเต็มเพื่อรับคืนขยะอีเลคทรอนิกส์ และเพิ่มปริมาณการนำเม็ดพลาสติกที่มาจากวัสดุที่ผ่านการใช้งานโดยผู้บริโภค (post-consumer recycled หรือ PCR) กลับมาใช้ในการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของแอลจี
ในปี พ.ศ. 2563 แอลจีได้นำพลาสติกรีไซเคิลราว 20,000 ตัน กลับมาใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ โดยวางแผนที่จะเพิ่มปริมาณการใช้พลาสติกรีไซเคิลมากขึ้นกว่า 10 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2568 แม้ว่าในปัจจุบัน แอลจีนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนภายในผลิตภัณฑ์ทีวี จอมอนิเตอร์ ลำโพง เครื่องซักผ้า ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศแล้ว บริษัทยังวางแผนที่จะเพิ่มปริมาณการใช้งานพลาสติกรีไซเคิลกับชิ้นส่วนภายนอกของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยนอกจากการใช้พลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้นแล้ว แอลจียังจะลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic) ในทุกขั้นตอนการดำเนินงานอีกด้วย ในปีนี้ ทีวีแอลจี OLED ทั้งหมด 18 รุ่น จะถูกผลิตโดยใช้พลาสติกผลิตใหม่น้อยลง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2563 ถึง 14 รุ่น และลดการใช้งานพลาสติกสูงสุด 10,000 ตัน
แอลจียังเพิ่มเป้าหมายในการรับคืนขยะอีเลคทรอนิคส์ จากที่กำหนดไว้ 4.5 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2549 เพิ่มเป็นกว่า 8 ล้านตัน ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยมีขยะอีเลคทรอนิกส์ถูกเก็บไปแล้ว 3.07 ล้านตัน ณ สิ้นปี พ.ศ. 2563 แอลจียังได้ดำเนินงานผ่านโครงการต่างๆ ในการรับคืนและรีไซเคิลขยะอีเลคทรอนิคส์ใน 52 ประเทศ นอกจากนี้ ในประเทศเกาหลีใต้ ศูนย์รีไซเคิลแอลจีในเมืองชิลซอ (LG Chilseo Recycling Center) ซึ่งเริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2544 ไม่เพียงแค่รับคืนขยะอีเลคทรอนิคส์ แต่ยังทำหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนใหม่จากพลาสติก รีไซเคิล และจัดส่งชิ้นส่วนเหล่านั้นให้กับโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของแอลจีที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ตู้เย็น เป็นต้น
แอลจีให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การขนส่ง การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัด โดยบริษัทแม่ของแอลจียังได้เข้าร่วมข้อตกลงกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมประจำประเทศเกาหลีใต้และกลุ่มประชาสังคมท้องถิ่นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบไร้พลาสติก ณ แอลจี ไซเอนซ์พาร์ค (LG Sciencepark) ศูนย์วิจัยและพัฒนาหลักของบริษัท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายสำคัญในการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของแอลจี