พลังงาน

ผุดโรงไฟฟ้าขยะไพโรไลซิสออยล์ จ.อุดรธานี ต้นแบบพลังงานสะอาดตอบโจทย์ Energy Plan

วันนี้ (21 ก.ย. 64) บริษัท เมโทร เอนเนอร์ยี่ จำกัด ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส  กับบริษัท จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัด  เพื่อกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี กำลังการผลิต  9.6  เมกะวัตต์ติดตั้ง กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จขายไฟฟ้าให้ กฟภ. ในปี 2565 ตอบโจทย์แผนพลังงานแห่งชาติที่หนุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 50% แถมยังปลดล็อกกฎหมาย CBAM ของ “อียู” ที่กีดกันการค้าเรื่องการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สร้างภาวะโลกร้อนได้ด้วย

บริษัท เมโทร เอนเนอร์ยี่ จำกัด เจ้าของโรงไฟฟ้าขยะอุดรธานีไพโรไลซิสออยล์ (UWTE Power Plant) โดยนายวีระ บูรพชัยศรี กรรมการบริหารได้ลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส (Pyrolysis Oil Technology for 9.6 MW. Municipal Waste Power Plant)ในพื้นที่เทศบาลจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับบริษัท จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัด โดยนายสุรเดช บัวทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

นายวีระ บูรพชัยศรี กรรมการบริษัท เมโทร เอนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มูลค่า 710 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการเฟสแรกมาแล้วเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ กำจัดขยะสด ส่วนการลงนามก่อสร้างกับบริษัท จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัด เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะ โดยจะนำพลาสติกที่ได้จากการคัดแยกขยะไปเผาจะได้น้ำมันเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างโครงการไปแล้ว กำหนดแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในเดือนสิงหาคม 2565 มีกำหนดระยะเวลาคืนทุน 5-7 ปี และมีแผนจะขยายลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง  ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่เหมาะสมในการก่อสร้าง

วีระ บูรพชัยศรี กรรมการบริษัท เมโทร เอนเนอร์ยี่ จำกัด

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวชุมชนเมืองในจังหวัดอุดรธานีที่ได้ร่วมกันผ่านประชาพิจารณ์ในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอยและให้นำขยะไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้เกิดขึ้นจริงแล้ว โดยได้รับความไว้วางใจให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส ซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าขยะพลังงานสะอาดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่ใช้ด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส  สามารถแก้ปัญหาขยะในเมืองอุดรธานีได้ 300 ตันต่อวัน หรือประมาณ 109,500 ตันต่อปี

“การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิสเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในระดับเทศบาลจนถึงระดับจังหวัด ซึ่งนับว่าเป็นโรงไฟฟ้าขยะต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้เทคโนโนโลยีไพโรไลซิส มาเป็นหัวใจหลักของกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก เพื่อป้อนเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าขนาด 9.6 เมกะวัตต์ติดตั้ง และจะขายไฟฟ้าเข้าระบบจำนวน 8 เมกะวัตต์ ในเดือนสิงหาคม 2565 แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อัตราค่าไฟอยู่ที่ 5 บาทต่อหน่วย อายุสัญญา 25 ปี”

นายวีระ กล่าวด้วยว่า ทางเทศบาลเมืองอุดรธานีได้ให้ความสนใจในเทคโนโลยีการกำจัดขยะมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าขยะพลาสติกนับวันจะยิ่งเพิ่มปัญหาในด้านการจัดการและส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้นในอนาคต ถึงเวลาแล้วที่ทางเทศบาลควรเดินหน้าโครงการจัดการขยะแบบครบวงจรเพื่อประชาชน เป็นการเทคโนโลยีด้านการจัดการของเสียแบบสะอาดครบวงจรหรือเรียกว่า โรงไฟฟ้าขยะเทคโนโลยีไพโรไลซิส เพื่อมาใช้กับโครงการนี้ ซึ่งการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าที่ขนาด 9.6 เมกะวัตต์ จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 300,000  ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี

สุรเดช บัวทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัด

ด้านนายสุรเดช บัวทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟอี เอนเนอร์ยี่ บาล๊านซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทยืนยันว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิสที่ จ.อุดรธานี สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เปิดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนสิงหาคม ปี 2565 อย่างแน่นอน ข้อดีของเทคโนโลยีไพโรไลซิส คือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากขยะโดยการใช้เตาเผาที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และยังเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดไม่ก่อเกิดมลพิษ น่าจะมีการพัฒนาและต่อยอดไปได้อีกไกลในอนาคตเป็นอีกทางเลือกของการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ

ผจญ ศรีบุญเรือง รองประธานกลุ่มพลังงานทดแทน สอท.

นายผจญ ศรีบุญเรือง รองประธานกลุ่มพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีวิธีกำจัดขยะไม่ถูกต้อง  จนทำให้ติด 1 ใน 6 ประเทศในโลกที่มีการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส จึงเป็นการตอบโจทย์ประเทศในการกำจัดขยะที่ถูกวิธีและได้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าด้วย

นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้ากับประเทศไทย กรณีบริษัทส่งออกสินค้าไปยุโรปมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สร้างภาวะโลกร้อน รวมถึงบริษัท SMEs ในประเทศไทยก็น่าห่วงยังไม่มีการปรับตัวในเรื่องนี้ ในส่วนพลังงานในแผนพลังงานแห่งชาติ (Energy Plan) มีการกำหนดให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 50% ซึ่งถือว่าการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้เป็นดำเนินการตามกรอบแผนพลังงานแห่งชาติที่กำลังจะบังคับใช้

ดร.จุติณัฏฐ์ ลิมปนันท์วดี ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กฟภ.

ดร.จุติณัฏฐ์ ลิมปนันท์วดี ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามแผน กฟภ. จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะ จำนวน 400 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดอุดรธานีก็อยู่ในแผนควิกวินที่มีการลงนามก่อสร้างเมื่อปี 2562 กำหนดแล้วเสร็จจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2564 แต่ติดปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด -19 ไม่สามารถลงพื้นที่ได้จึงได้มีการขยายโครงการออกไปเป็นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งขณะนี้ กฟภ. มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะรวมทั้งสิ้น  35 โครงการ จำนวน 151 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 45 โครงการ จำนวน 217 เมกะวัตต์

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button