ตรวจรถไฟฟ้า”หัวลำโพง-บางแค”จ่อเปิด ก.ย.นี้
วันนี้ (5 มิถุนายน 2562) เวลา 13.30 น. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายมานิตย์ สุธาพร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ตรวจราชการและติดตาม ความพร้อมในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะผู้บริหาร รฟม. และผู้บริหารบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถานีสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ได้บรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฯ ว่า ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างเร่งการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (M&E Work) ซึ่งมีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 80.63 โดยแบ่งเป็นความคืบหน้างานระบบรถไฟฟ้าช่วงหัวลำโพง – บางแค ร้อยละ 89.73 และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ร้อยละ 68.69 ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562
สำหรับความคืบหน้าในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้านั้น บริษัทผู้ผลิตได้ขนส่งรถไฟฟ้าขบวนใหม่มาถึงยังประเทศไทยภายในสัปดาห์นี้จะมีจำนวน 4 ขบวน (3 ตู้ต่อขบวน) และจะทยอยส่งมอบอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกรกฎาคม 2562 จะมีขบวนรถไฟฟ้ามาเพิ่มเป็น 10 ขบวน ในเดือนกันยายน 2562 จะมีขบวนรถไฟฟ้ามาเพิ่มเป็น 16 ขบวน และในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะมีขบวนรถไฟฟ้ามาเพิ่มจนครบทั้งหมด 35 ขบวน
ทั้งนี้ เมื่อขบวนรถไฟฟ้ามาถึงประเทศไทยแล้ว จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบการใช้งาน ก่อนเริ่มทำการทดสอบระบบรวม หรือที่เรียกว่า System Integration Test (SIT) ในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2562 จากนั้นจะเริ่มการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Running) ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนได้เข้าร่วมการทดสอบดังกล่าวด้วยในเดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง – บางแค ในเชิงพาณิชย์ภายในเดือนกันยายน 2562 ในด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการช่วงเตาปูน – ท่าพระ นั้น คาดว่าจะเริ่มทำการทดสอบระบบรวมประมาณเดือนกันยายน – ธันวาคม 2562 และเริ่มการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง ในเดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นไป โดยมีกำหนดจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนมีนาคม 2563
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) ที่มีความจุสูง มีระยะทางรวมประมาณ 27 กิโลเมตร โดยโครงการฯ มีแนวเส้นทางต่อขยายจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ) ซึ่งเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ออกไป 2 ทิศทาง ได้แก่ ช่วงหัวลำโพง – บางแค ระยะทาง 16 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินจำนวน 4 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับจำนวน 7 สถานี และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ระยะทาง 11 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับทั้งหมด จำนวน 8 สถานี ซึ่งจะทำให้แนวเส้นทางของรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ หรือ Circle Line ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังมีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ได้แก่ รถไฟ รถไฟฟ้า รถโดยสาร และเรือโดยสาร เพื่อช่วยลดความแออัดของการจราจรบนถนนสายสำคัญๆ ในเขตเมืองได้เป็นอย่างดี สามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th