ร่วมขับเคลื่อน “Our Khung BangKachao”
แสดงพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เริ่มต้นพัฒนาพื้นที่สีเขียวครั้งยิ่งใหญ่ให้กับพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ส่งมอบกล้าไม้ป่าพื้นถิ่นให้ผู้แทนชุมชนทั้ง 6 ตำบล คุ้งบางกะเจ้า พร้อมรวมพลังจิตอาสาปลูกป่า มุ่งสร้าง อัตลักษณ์พื้นที่สีเขียวต้นแบบในแต่ละตำบล ส่งเสริมคุ้งบางกะเจ้าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของประเทศ
นายเตชพล ฐิตยารักษ์ รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน ให้เกียรติเป็นประธานเปิด “กิจกรรมพัฒนาพื้นที่สีเขียว เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการ Our Khung BangKachao” ส่งมอบกล้าพันธุ์ไม้ให้ผู้แทนชุมชน 6 ตำบล เพื่อแสดงสัญลักษณ์การเริ่มพัฒนาพื้นที่สีเขียวในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า โดยมี นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรประธานคณะทำงานด้านพื้นที่สีเขียว โครงการ Our Khung BangKachao พร้อมด้วย 19 องค์กรผู้สนับสนุน และ 31 องค์กรภาคีคณะทำงานฯ ร่วมในพิธีฯ นอกจากนี้ องค์กรผู้สนับสนุนพื้นที่สีเขียวยังได้ร่วมกันปลูกป่าเพิ่มพื้นที่ สีเขียวคุ้งบางกะเจ้า ณ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ใน 6 ตำบลพพร้อมกันอีกด้วย
นายเตชพล กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่สีเขียว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นการแสดงออกถึงการให้ความสำคัญในการรักษาป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในคุ้งบางกะเจ้า ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับแนวทางการดูแลพื้นที่แห่งนี้ไว้ เพื่อให้คงความเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นปอดของกรุงเทพฯ และเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญของประเทศ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนามีเจตนารมณ์มุ่งมั่นสืบสานพระราชดำริในโครงการ OUR Khung BangKachao โดยได้ตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกันน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่แห่งนี้อย่างเป็นระบบ ภายใต้การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน (Share Goal) ในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนคุ้งบางกะเจ้า และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตเพิ่มขึ้น ความภายใน 5 ปี นับเป็นร่วมมือกันของหลายๆ องค์กรครั้งใหญ่ ที่น้อมนำแนวทางการพัฒนาตามพระราชดำริมาสืบสานขยายผล โดยคณะทำงานด้านต่างๆ ได้มีการดำเนินงานที่คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คุ้งบางกะเจ้ากลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งยกระดับวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการเติบโตทางเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น บนพื้นฐานความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ
สำหรับวันนี้ คณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียวฯ จะได้เริ่มต้นส่งมอบกล้าพันธุ์ไม้ที่จะปลูกแก่ผู้แทนชุมชนทั้ง 6 ตำบลในคุ้งบางกะเจ้า เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ระยะแรก จำนวน 107 แปลง รวม 400 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ ราชพัสดุในความดูแลของกรมป่าไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบป่าไม้พื้นถิ่นนานาพันธุ์ และเมื่อป่าไม้เติบโตงอกงามขึ้นยังสามารถช่วยสร้างประโยชน์แก่ชาวชุมชนคุ้งบางกะเจ้านานัปการตามมาอีกด้วย สามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนให้อยู่ร่วมกับพื้นที่สีเขียวได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน
ด้านนายชาญศิลป์ฯ เปิดเผยว่า ปตท. ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการบริหารองค์กรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน คือ People Planet และ Prosperity การพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่คุ้งบางกะเจ้าแห่งนี้ เป็นหนึ่งในแนวทางการทำงานด้าน Planet ที่ ปตท. ให้ความสำคัญมาก โดย ปตท. นำองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ กว่า 20 ปี ผสานกับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในกลุ่ม ปตท. มาปรับใช้กับกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบ Technology for Social Collaboration เพื่อมุ่งพัฒนาสังคมให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียวฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวระดับตำบล และระดับคุ้งบางกะเจ้าขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับชุมชนในทุกขั้นตอนและมีการเตรียมพื้นที่ให้พร้อมต่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ได้แก่ การสำรวจพื้นที่เป้าหมายทั้งหมดร่วมกับกรมป่าไม้ เพื่อจัดเตรียมพื้นที่ปลูกป่า เช่น การวางท่อจัดการน้ำใหม่และถมดินปิดท่อเดิมที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขนานไปกับการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชุมชนทั้ง 6 ตำบล เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
“การทำงานที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากภาคีของคณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียวทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชลล์ ปตท.สผ. ซีพี ทรู และ บางจาก ซึ่งมีความชำนาญแตกต่างกันไปในแต่ละด้าน และยังได้รับนโยบายและการกำกับดูแลจากมูลนิธิ ชัยพัฒนาในทุกขั้นตอนการทำงาน รวมถึงได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคณะกรรมการตำบลและคณะกรรมการคุ้งบางกะเจ้า 6 ตำบล ซึ่งทุกท่านล้วนเป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความคืบหน้าในวันนี้ โครงการนี้ นับเป็นการสานพลังบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การมีส่วนร่วมและคำนึงถึงความต้องการของชุมชนเป็นพื้นฐานและเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน ในรูปแบบ Social Collaboration อย่างแท้จริง เพื่อมุ่งหวังผลักดันให้ “คุ้งบางกะเจ้า” แห่งนี้ เป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) ที่สำคัญของประเทศ จนใครๆ อยากมาสัมผัส ตลอดจนเป็นสมบัติและความภาคภูมิใจของชุมชนและประเทศไทยตลอดไป” นายชาญศิลป์ กล่าว