การเกษตร

กรมชลฯ เสนอแผนปรับปรุงระบบส่งน้ำโครงการฯโดมน้อย จ.อุบลฯ

กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตาม โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย” จ.อุบลราชธานี หลังเปิดใช้งานกว่า 40 ปี พบมีปัญหาด้านประสิทธิภาพการส่งน้ำ ความต้องการใช้น้ำชลประทานที่เพิ่มขึ้น เร่งระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน รวบรวมข้อเสนอความคิดเห็นสู่แผนพัฒนาโครงการที่มีความทันสมัยตอบรับการเปลี่ยนแปลง

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่  “โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย” ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 บ้านโนนจันทร์ ต. โนนกลาง อ. พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ ประกอบด้วยโรงสูบน้ำติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่อง คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายระยะทาง 65.6 กิโลเมตร ฝั่งขวา 25 กิโลเมตร รวมทั้งคลองส่งน้ำสายซอยและแยกซอยรวมกัน 193 กิโลเมตร ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2527 และใช้งานมากว่า 40 ปี ทำให้ประสิทธิภาพการส่งน้ำลดลง ไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 183,044 ไร่ กรมชลฯ ได้ เล็งเห็นความสำคัญในการปรับปรุงโครงการ ให้สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งเรื่องการอุปโภค บริโภค และการสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำและระบบชลประทาน

ทั้งนี้ กรมชลฯได้ ติดตามความคืบหน้าในการจัดทำแผนพัฒนาโครงการ โดยได้มีการจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย จ.อุบลราชธานี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อให้ระดมความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจในแนวทางปรับปรุงระบบส่งน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งจะมีการรวบรวมไปสู่การปรับปรุงแผนพัฒนาโครงการที่สมบูรณ์

“จากการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการและกลุ่มเกษตรกร พบว่าในพื้นที่ดังกล่าว สภาพปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อทำการเกษตร มีน้ำใช้ไม่ทั่วถึง ซึ่งในอนาคตหากไม่มีการแก้ไข อาจทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานตามมา ดังนั้น กรมชลประทานจึงทำการศึกษาแนวทางปรับปรุงโครงการ เพื่อให้โครงการมีการส่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการน้ำ ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม  และครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง”

สำหรับแผนการปรับปรุงโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย เป็นการงานปรับปรุงซ่อมแซมองค์ประกอบโครงการฯให้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์เพื่อลดการสูญเสีย ประกอบด้วย การปรับปรุงซ่อมแซมดาดคอนกรีตคลอง LMC ความยาว 6.96 กิโลเมตร   ซ่อมแซมดาดคอนกรีตคลอง RMC ความยาว 6.96 กิโลเมตร  ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ที่เป็นอุปสรรคในการส่งน้ำ การรื้อถอนอาคาร ของคลองฝั่งขวา และมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารของคลองส่งน้ำฝั่งซ้าย ปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น งานปรับปรุงการแก้ปัญหาตะกอนทราย และปัญหาวัชพืชในคลองส่งน้ำ ตลอดคลองสายใหญ่

ทั้งนี้ ยังมีงานเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานเพิ่มระบบส่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อเสริมระบบส่งน้ำเดิม ได้แก่ การสร้างอาคารรับน้ำอาศัยแรงโน้มถ่วงจากอ่างเก็บน้ำสิรินธร ไปยังพื้นที่ปลายคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา พร้อมทั้งมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำแห่งใหม่ ขนาด 3.1 ล้านลูกบาศก์ต่อวินาที  และสถานีสูบน้ำเพิ่มเติมบริเวณหัวงาน 2.25  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่บริเวณหัวงาน  ขณะเดียวกันยังได้มีการปรับปรุงขยายความกว้างของคลองสายใหญ่ฝั่งขวา ความยาว 8.10 กิโลเมตร และปรับปรุงขยายคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย 4 ช่วง ความยาวรวม 10.20 กม. เป็นต้น

เพื่อให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อยยกระดับขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำมากยิ่งขึ้น เพื่อกระจายน้ำไปยังสายหลักและสายย่อย  โดยการติดตั้งระบบเครื่องตรวจวัดเพื่อจัดเก็บข้อมูลของโครงการ อาทิ วางแผนในการบริหารน้ำตั้งแต่แหล่งน้ำต้นทุน ,การคาดการณ์ความต้องการน้ำรายเดือน และการกำหนดแผนการส่งน้ำการส่งเสริมพัฒนาบุคลากรโครงการ เป็นต้น การวางระบบโทรมาตรเพื่อการบริหารจัดการน้ำในการติดตามผลการส่งน้ำเพื่อให้บริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกร การพัฒนาองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มผู้ใช้น้ำและเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกรและส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของระบบชลประทาน การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตด้านเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และจัดทำฐานข้อมูลโครงการเพื่อใช้ในการติดตามการส่งน้ำและผลการเพาะปลูก เช่น การทำแผนที่พื้นที่เพาะปลูกในรูปของระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System, GIS) เพื่อใช้เป็นข้อมูลติดตามในการปรับแผนการส่งน้ำให้สอดคล้องกับผลเพาะปลูก และเผยแพร่ข้อมูลแผนที่พื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม (Agri-Map) เพื่อให้เกษตรกรแต่ละแปลงเพาะปลูกพืชที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง จำนวน 3 ปี วงเงินค่าก่อสร้างและปรับปรุงโครงการรวม 570.53 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดผลประโยชน์ในพื้นที่โครงการได้แก่

1) เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ จากระบบชลประทานจากเดิมที่ส่งน้ำได้ 131,035 ไร่ เป็น 176,010 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 158,919 ไร่ พื้นที่ชลประทานสมทบ (พื้นที่นอกเขตชลประทาน) 17,091ไร่

2) เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำต้นทุน ในพื้นที่โครงการจากการก่อสร้างสถานีสูบน้ำแห่งใหม่ และอาคารผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำสิรินธร

3) เพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน จากการปรับปรุงอาคารชลศาสตร์และคลองชลประทาน

4) เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ จากการเสนอติดตั้งระบบโทรมาตร การจัดรอบเวรในการส่งน้ำ และการจัดองค์กรใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและพื้นที่รับประโยชน์โครงการที่เพิ่มขึ้น

5) เสนอแผนพัฒนาแหล่งน้ำทางเลือกในพื้นที่ สบ.4 บริเวณที่ไม่สามารถรับน้ำจากระบบชลประทาน

เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดผลประโยชน์ทางการเกษตร เมื่อมีโครงการทำให้มีน้ำที่ใช้ได้ในการเกษตรและปริมาณน้ำมีเสถียรภาพ ทำให้เกิดผลประโยชน์ส่วนเพิ่มทางการเกษตร เป็นเงิน 9,325.21 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน ณ อัตราคิดลดร้อยละ 6.94 เท่ากับ 1,855.24 ล้านบาท

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button