สกนช. เปิด 4 แผนหลักบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปี 65
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช. สรุปผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2564 สถานะกองทุนน้ำมันฯ ยังคงมีสภาพคล่องทางการเงินแม้ว่าจะติดลบ คาดสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงผันผวนจากปัจจัยโควิดโอมิครอนและกลุ่มโอเปกพลัสไม่เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันดิบ วางแผนปฏิบัติงานในปี 2565 เตรียมทบทวนแผนวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันฯ มุ่งรองรับการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขยายระยะเวลาการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพให้สอดคล้องสถานการณ์
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ทิศทางการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2565 จะมุ่งเน้นแผนปฏิบัติงานที่สำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่
1) การทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งแผนดังกล่าวระบุให้มีการทบทวนแนวทางรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันฯ โดยจะนำตัวเลขด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมาศึกษาทบทวนเพื่อกำหนดระดับราคาวิกฤตด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนทบทวนสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก
2) ระบบติดตามและการเชื่อมโยงข้อมูลกรมสรรพสามิต และ สกนช. โดยจัดให้มีระบบฐานข้อมูล ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเบิกจ่ายเงินชดเชยให้เกิดความรวดเร็วและถูกต้อง
3) การทบทวนแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2566 – 2670 ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่จะมุ่งเน้นให้สอดคล้องแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ
4) แผนลดการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ให้หยุดชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปี และสามารถขยายเวลาการลดการชดเชยได้ 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการลดการชดเชยให้คำนึงถึงเกษตรกร สกนช. จึงได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนขอขยายการชดเชยโดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน
สำหรับผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค.63 – 30 ก.ย.64) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการรักษาระดับขายปลีกก๊าซ LPG ประมาณ 9,532 ล้านบาท นอกจากนี้ สกนช. ยังมีการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในประเภทน้ำมันเบนซินประมาณ 9,054 ล้านบาท และน้ำมันดีเซลประมาณ 24,469 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกลดลงแต่ยังคงมีความผันผวนในช่วงวันที่ 17 พฤศจิกายน ถึง 17 ธันวาคม 2565 น้ำมันดูไบจาก 80.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็น 73.33 เหรียญ ต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซลจาก 91.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็น 85.27 เหรียญต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซินจาก 95.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็น 88.45 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วน LPG cargo จาก 798.50 เหรียญต่อตัน เป็น 682 เหรียญต่อตัน สาเหตุความผันผวนยังคงเป็นเรื่องของเชื้อไวรัสโคโรนาโอมิครอน และการไม่เพิ่มการผลิตน้ำมันเของกลุ่มโอเปกพลัส
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงมีการช่วยเหลือประชาชนในด้านราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และราคาก๊าซ LPG ไม่เกิน 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ทำให้ประมาณการสภาพคล่องของเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนธันวาคม 2564 มีการจ่ายเงินออกจำนวน 5,963 ล้านบาท แบ่งเป็นการจ่ายประเภทน้ำมัน 4,276 ล้านบาท ประเภทก๊าซ LPG 1,687 ล้านบาท ส่งผลให้ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2564 มีฐานะกองทุนสุทธิ -3,072 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 19,223 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG –22,295 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงมีสภาพคล่องในการจ่ายเงินถึงแม้ว่าฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะติดลบก็ตาม ส่วนในเรื่องของการกู้ยืมเงินขณะนี้อยู่ระหว่างให้สถาบันการเงินเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมต่อ สกนช.