เกษตรฯ เคลียร์ชัดโรค ASF ในสุกร เผยเยียวยาเกษตรกรแล้วกว่า 3 พันราย
กระทรวงเกษตรฯ. เคลียร์ทุกประเด็นโรค ASF ในสุกร แจงสาเหตุหมูแพง ยืนยันป้องกันโรคตั้งแต่ปี 2561 ไม่ปกปิดไม่ละเลย เผยช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรแล้วกว่า 3 พันราย ผนึกทุกภาคีเครือข่ายร่วมควบคุมโรคให้สงบและขอคืนสภาพปลอดโรคโดยเร็ว
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ว่า ตามที่ประเทศไทยได้มีการตรวจพบเชื้อโรค ASF ในสุกรจากการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวสัมผัส (surface swab) ที่โรงฆ่าแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ตรวจโดยห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์เพื่อยืนยันผล ตนได้มีความห่วงใยต่อเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ต้น และสั่งการด่วนให้กรมปศุสัตว์รีบดำเนินการทันที ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เร่งดำเนินการเพื่อหารือและทำความเข้าใจร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว ได้ประชุมคณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ASF ในสุกรและแถลงต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ซึ่งจะประกาศเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรค และรายงานแจ้งไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ต่อไป โดยการดำเนินการต่างๆ จะคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ เพื่อลดความเสียหายและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด วอนเกษตรกรอย่าตระหนก โรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ย้ำไม่ระบาดติดต่อสู่คน
กรมปศุสัตว์ย้ำ ไม่เคยปกปิดโรค ASF ในสุกร ได้ดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคมาตั้งแต่ปี 2561 ที่พบการระบาดเกิดโรค ASF ในสุกรครั้งแรกในประเทศจีน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคมาโดยตลอด
โดยสั่งการในปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค การซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือ จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ASF ในสุกร (contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรค ASF ในสุกร (Clinical Practice Guideline) และได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์ การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจเข้มนักท่องเที่ยวและเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเข้าประเทศ เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการส่งออก ลดความเสี่ยงจาการส่งออกสุกร โดยห้ามรถขนส่งสุกรมีชีวิตเข้าไปส่งสุกรในประเทศที่มีการระบาด ให้ใช้รถขนถ่ายข้ามแดนในการส่งสุกรไปยังประเทศปลายทางแทน และต้องมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ในการจัดประชุมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ในการป้องกันโรค การทำงานบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ในการจัดตั้งโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งหมด 5 จุด ที่ด่านกักกันสัตว์เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และสระแก้ว การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ โดยได้จัดทำเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว ภาษาพม่า ภาษาเขมร เป็นต้น
การสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเพื่อเฝ้าระวังโรค ซึ่งผลวิเคราะห์จากการเก็บตัวอย่างตอนนั้นเป็นลบต่อโรค ASF ในสุกรทั้งหมด แต่ให้ผลบวกต่อโรคชนิดอื่นๆ เช่น โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) และโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) เป็นต้น
สำหรับประเด็นเงินชดเชย เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนและยารักษาจำเพาะ หากพบการระบาดของโรคในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยากก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ดำเนินการคือการลดความเสี่ยงโดยการทำลายสุกรที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันการเกิดโรค อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายเพื่อป้องกันโรค ที่ผ่านมาได้ดำเนินการขออนุมัติจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยได้ดำเนินการชดเชยค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง รวมเกษตรกรทั้งสิ้น 3,239 ราย สุกรจำนวน 112,752 ตัว เป็นเงิน 470,426,009 บาท และในปี 2565 กรมปศุสัตว์ได้ขออนุมัติงบประมาณในส่วนดังกล่าวแก่เกษตรกรจำนวน 4,941 ราย สุกรจำนวน 159,453 ตัว เป็นเงิน 574,111,262.5 บาท เพื่อเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติแล้ว จะเร่งเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเร็วต่อไป
กรณีปัญหาราคาเนื้อสุกรแพง มาจากหลายปัจจัย สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณสุกรมีชีวิตที่ถูกแปรสภาพเป็นเนื้อสุกรลดลง ประกอบกับภาวะต้นทุนการผลิตสุกรขุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์มสุกร และต้นทุนด้านการขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ผลผลิตสุกรลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพในฟาร์มสุกรของไทยเพิ่มขึ้น ในรอบปี 2564 พบการระบาดของโรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) เกษตรกรต้องลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์ม และเลิกเลี้ยงสุกรในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพ โดยได้มีมาตรการให้การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยมาตรการระยะเร่งด่วนกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ประกาศห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 เดือน (6 มกราคม-5 เมษายน 2565) ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์ จัดสินเชื่อพิเศษ เพื่อให้เกษตรกรได้กลับมาเลี้ยงใหม่ ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องต้นทุนที่เกิดขึ้น และเร่งสำรวจภาพรวมการผลิตสุกรเพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการ พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน มาตรการระยะสั้น มีการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
ขยายกำลังการผลิตแม่สุกร เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด สำหรับมาตรการระยะยาวคือ การผลักดันยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด (Good Farming Management : GFM) ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มมีระบบการป้องกันโรคและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค และจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. โครงการสานฝันสร้างอาชีพ โดยคาดว่าสถานการณ์ราคาสุกรจะเข้าสู่ภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยเป็น
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการทำงานเชิงรุกป้องกันโรคในระยะยาว กรมปศุสัตว์ได้มีคำสั่งกรมปศุสัตว์ แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมงานวิจัยโรค ASF ในสุกร ประกอบด้วย หน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม และอาจารย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิจัยการป้องกันและควบคุมโรค ASF ในสุกรในอนาคต ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาและพัฒนาวัคซีนโรค ASF ในสุกรโดยเร็วและมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด และพิจารณาเรื่องการศึกษาและวิจัยโรค ASF ในสุกรอีกด้วย ซึ่งวัคซีนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมโรคเท่านั้น แต่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมโรค การป้องกันโรคโดยการเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคขึ้นภายในฟาร์มเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
สำหรับกรณีการขอคืนสถานภาพปลอดโรค ASF ในสุกรตามที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้กำหนดใน Terrestrial Animal Health Code (CHAPTER 15.1. INFECTION WITH AFRICAN SWINE FEVER VIRUS) สามารถขอคืนได้ในรูปแบบ country free, zone free หรือ compartment free โดยต้องทำตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ OIE โดยต้องมีการเฝ้าระวังโรคเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีสุกรป่วยที่ติดเชื้อไวรัส ASF ในสุกรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สิกับมีการการทนค้าสุกรที่ถูกนำเข้ามาเป็นไปตามข้อกำหนดของ OIE ต้องมีหลักฐานแสดงว่าไม่มีการปรากฏของเห็บ (Ornithodoros ticks) เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ มีหลักฐานการฆ่าเชื้อเกิดขึ้นในโรงเรือนที่ติดเชื้อหลังสุดท้ายและร่วมำลายสุกร และใช้สุกรสำหรับการเฝ้าระวังโรค (sentinel pigs) ในโรงเรือน โดยผลที่ได้ต้องเป็นลบต่อเชื้อ ASF ในสุกร
ท้ายสุดนี้ ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรในการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัด เพื่อควบคุมโรคให้สงบได้โดยเร็ว หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัย หรือพบสุกรป่วยตายผิดปกติ หรือสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225 -6888 หรือแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง